วัดสุลามณีเป็นวัดเก่าอยู่ในเมืองพุกาม สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1726 ช่วงยุคปลายของอาณาจักรพุกาม หรือประมาณ 60 ปีก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ตั้งราชวงศ์พระร่วง สุลามณีหมายถึง “เม็ดทับทิมเล็ก ๆ ประดับอยู่บนมงกุฏ” ถือว่าเป็นอัญมณีล้ำค่า ตัววัดรูปทรงคล้าย ๆ กับเจดีย์ สร้างจากอิฐดินเผาสีแดงก่ำ ใต้องค์มหาเจดีย์มีระเบียงทางเดิน กำแพงสองข้างทางเดินประดับด้วยภาพจิตรกรรมเฟรสโก้ (FRESCO) เป็นการเขียนสีในช่วงเวลาที่ปูนยังเปียก ภาพวาดสีเฟรสโกในวัดสุลามณีเขียนขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 18 เล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอิริยาบท ต่าง ๆ เช่น นั่ง นอน ยืน สวยงามมาก แม้ว่าสีจะจางลง ผิวกร่อน สีหลุดลอกไปตามกาลเวลา บางภาพเห็นร่องรอยการซ่อมแซมโดยศิลปินยุคหลังที่ฝีมือด้อยกว่า ภาพที่ถูกซ่อมจึงออกมาประหลาด ๆ ใครที่มีโอกาสไปเที่ยวพุกามควรจะแวะเข้าไปชมภาพเขียนสีเฟรสโกชุดนี้ มีภาพชุดหนึ่งที่คนไทยควรไปดู เป็นภาพที่อยู่กำแพงด้านขวามือ (เมื่อเราหันหน้าเข้าหาประตูใหญ่) เป็นภาพผู้หญิงผู้ชายกลุ่มหนึ่งกำลังพนมมือไหว้พระพุทธรูป ผู้ชายเปลือยอก ไว้ผมสั้นๆ ทรงมหาดไทย ผู้หญิงดูอ่อนช้อย ห่มผ้าเหมือนสไบ ยกมือไหว้พระ ดูนอบน้อม มัคคุเทศก์ชาวพม่าจะบอกว่าภาพนี้เป็นคนสยาม หรือไม่ก็เขียนโดยช่างเขียนชาวสยาม เมื่อครั้งถูกเกณฑ์มาเป็นเชลยสงคราม ตอนกรุงศรีอยุธยาแตก