ระฆังใหญ่ใบนี้แขวนอยู่ใต้ศาลาริมแม่น้ำอิรวดี น่าจะเป็นระฆังใบหนึ่งที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดในประเทศเมียนมา เพราะว่าอยู่บริเวณเมืองสกายน์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางภาคกลางของเมียนมา
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นั่งเรือทวนน้ำมาจากมัณฑะเลย์ ชื่นชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ นึกถึงความรุ่งเรือง ความกล้าหาญ ความเพียรของรัฐพม่าในอดีต (อยู่ไกลขนาดนี้ ยังขยันเดินไปกรุงอโยธยา) นึกถึงเรือปืนของกองทัพอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 19 ที่ทวนน้ำมาจากปากแม่น้ำ
นึกกันไปต่าง ๆ นานา ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขารู้จักประเทศเมียนมาจากจุดไหน จากนั้นนักท่องเที่ยวจะแวะท่าน้ำที่มีสิงโตคู่นั่งอยู่ริมแม่น้ำ เดินขึ้นไปดูเจดีย์มิงกุน มหาเจดีย์ที่ตั้งท้าทายศรัทธาของคนพม่าที่มีต่อพุทธศาสนา
ไม่ว่าคนพม่าจะพยายามสักกี่ครั้ง ทุ่มเทสักเพียงไหน เจดีย์มิงกุนก็สร้างไม่เสร็จ
เดินจากเจดีย์มิงกุนไปแค่สุดเสียงหมาเห่า (ไม่ไกล) ก็เจอระฆังมิงกุน
เรา (มีผม “ ป๊อบ บางกอกโพสต์” แล้วก็ “จั้ม แบร์ฟุต”) เดินมาเจอระฆังตอนใกล้ค่ำแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มีให้เห็น พบแต่แม่ชีสาว ๆ ห่มผ้าสีชมพูเดินปะปนกับนักท่องเที่ยวคนพม่ากลุ่มเล็กที่กำลังเดินวนรอบระฆังยักษ์
เรื่องราวในอดีตบอกว่าระฆังมิงกุนสร้างสมัยพระเจ้าปดุงเป็นกษัตริย์ การหล่อระฆังหนัก 90 ตันใบนี้ใช้เวลาถึง 2 ปีตั้งแต่ปีค.ศ. 1808 ถึง ปีค.ศ. 1810 ช่างเริ่มหล่อระฆังที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำอิรวดีตรงข้ามเจดีย์มิงกุน เมื่อเสร็จใช้เรือบรรทุกข้ามฟากมายังฝั่งขวาของแม่น้ำอิรวดี พระเจ้าปดุงต้องการนำระฆังใหญ่มาตั้งไว้คู่กับมหาเจดีย์มิงกุน เมื่อระฆังข้ามมาถึงฝั่งขวา ก็เริ่มขุดคลองรอบ ๆ ระฆัง ปล่อยน้ำให้เต็มคลอง แล้วใช้ปัญญาบวกกำลังลากระฆังหนักเท่ารถกระบะ 45 คันไปถึงจุดที่ต้องการแขวน
ครั้งหนึ่งระฆังยักษ์ใบนี้เคยตกมาจากคานแขวน
ผมมารู้เรื่องระฆังมิงกุนหล่นจากคานเมื่อกลับมานั่งอ่านเรื่องระฆังเพิ่มเติมที่เมืองไทย ถ้ารู้แต่แรกผมคงให้ป๊อบ บางกอกโพสต์เข้าไปก่อน ไม่กล้ามุดเข้าไปใต้ระฆังเป็นคนแรกแน่นอน เคราะห์หามยามซวย เกิดดวงแตกเหมือนกรุงศรีฯ คานหักตอนกำลังเดินอยู่ใต้ระฆัง คงไม่แคล้วเป็นผีเฝ้ากรุงอังวะ
ด้านในระฆังมีตัวหนังสือเขียนเต็มไปหมด เห็นครั้งแรกก็นึกว่าคนพม่ามีนิสัยเหมือนกับคนจีนที่จารอักษร จดบันทึกลงในหม้อทองเหลือง ถ้วยชามรามไห ที่เคยเห็นในพิพิธภัณฑ์
ไกด์พม่าที่มุดตามไปบอกว่า ตัวหนังสือเหล่านั้นไม่ใช่ฝีมืออาลักษณ์ของพระเจ้าปดุง หรือนักประวัติศาสตร์ที่ไหน เป็นฝีมือของนักท่องเที่ยวมือบอนล้วน ๆ เขียนกันจนเปรอะระฆังใบใหญ่จนไม่มีที่ว่างแม้นสักฝ่ามือ
“พอนักท่องเที่ยวเขียนจนเต็มพื้นที่ ชาวบ้านก็จะช่วยกันลบ ช่วยกันทำความสะอาด” ไกด์พม่าเล่าด้วยสีหน้าแสดงความหมดหวังกับนักท่องเที่ยวมือบอน “วันรุ่งขึ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกก็จะมาฝากคำเอาไว้ใต้ระฆังอีก”