กรมศิลปากรจัดนิทรรศการ “นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน” (In Situ from Outside: Reconfiguring the Past in Between the Present) ขึ้นในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล โดยเปิดพื้นที่ห้องโถงใหญ่ของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่เคยเป็นท้องพระโรงวังหน้า และมุขกระสันให้ศิลปิน 7 คน นำกลิ่นอายอดีตของวังหน้าที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ มาแสดงผ่านงานศิลปะการจัดวาง (art installation)

งานนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของกรมศิลปากรที่เปิดพื้นที่ในพระที่นั่งฯ ให้งานศิลปะร่วมสมัย และที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้คนที่เคยชื่นชมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะได้เคยเดินชมพระที่นั่งต่าง ๆ ในหมู่พระวิมาน โอกาสนี้จะได้สัมผัสวังหน้าในมิติใหม่ ๆ ผ่านงานศิลปะ

เมื่อเราก้าวเข้าไปในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย คนที่ช่างสังเกต หรือคนที่เคยเข้ามาชมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยก่อนที่จะมีงานนิทรรศการ จะรู้สึกได้ทันทีว่าบรรยากาศในห้องโถงเปลี่ยนไปจากเดิม

หน้าต่างวังหน้า

หน้าต่างทุกบานภายในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเปิดรับลมร้อน และเปิดพื้นที่ให้ศิลปะร่วมสมัย (ภาพ: กรมศิลปากร)

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยถูกใช้เป็นห้องจัดนิทรรศการพิเศษของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ปกติหน้าต่างในท้องพระโรงวังหน้าจะถูกปิดตาย วันนี้กลับตรงกันข้าม หน้าต่างทุกบานเปิดออกรับลมและแสงจากภายนอก ปล่อยให้อากาศถ่ายเท ลมพัดเย็นสบาย แม้ว่าเรากำลังอยู่ในเดือนที่ร้อนที่สุดของไทย การเปิดหน้าต่างครั้งนี้ทำให้พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่อายุเกือบ 2 ศตวรรษกลับมามีชีวิตชีวา แม้ว่าจะไม่ได้กลับมาทำหน้าที่สำคัญที่สุดในการเป็นห้องออกว่าราชการของพระมหาอุปราช แต่บรรยากาศในห้องก็ดูมีชีวิตชีวา ราวกับว่าท้องพระโรงแห่งนี้เปิดทำหน้าที่มาทุกวัน ตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 3

เว็บไซต์บางกอกบิ๊กเอียร์สเดินทางมาชมนิทรรศการครั้งนี้กับเดอะวิสดอม กสิกรไทย โดยทางธนาคารพาลูกค้ากลุ่มพิเศษมาสัมผัสเรื่องราวต่างเวลาผ่านงานแสดงศิลปะ นับว่าเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เห็นการนำอาคารอนุรักษ์มาผสมผสานกับการแสดงศิลปะร่วมสมัย ตลอดจนได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรที่เป็นคนรุ่นใหม่และมีความสามารถ

“คุณใหม่ต้องการให้เปิดหน้าต่างทุกบาน ใช้แสงไฟเฉพาะจุดที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนั้นปล่อยให้แสงธรรมชาติเข้ามา  เพื่อรื้อฟื้นบรรยากาศของตัวสถานที่จริง ๆ” ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พูดถึงคุณใหม่ สิริกิติยา เจนเซน ผู้เป็นแกนหลักในการจัดนิทรรศการศิลปะครั้งนี้

จริง ๆ แล้ว นิทรรศการ นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน เป็นภาคต่อเนื่องจากนิทรรศการ วังน่านิมิต ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 ทั้งสองงานเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิทรรศการศิลปะ วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ที่นำงานศิลปะร่วมสมัยมาจัดในพื้นที่ที่มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นทับซ้อนกันพระราชวังบวรสถานมงคล

คนเดินชมท้องพระโรงวังหน้า
ธนาคารกสิกรไทยพากลุ่มลูกค้า “เดอะ วิสดอม” (The Wisdom) ชมนิทรรศการศิลปะภายในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หรือท้องพระโรงวังหน้า (ภาพ: บางกอกบิ๊กเอียร์ส)

“ที่นี่เป็นท้องพระโรง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วก็มีการใช้งานต่อเนื่องมาถึงช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้าแล้ว ก็ถูกใช้เป็นห้องเก็บของพิพิธภัณฑ์ฯ จนถึงปี พ.ศ. 2469 เมื่อสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ใช้ห้องนี้เป็นห้องจัดแสดง ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2510 หลังจากนั้นก็ใช้เป็นห้องจัดนิทรรศการพิเศษจนถึงปัจจุบันนี้” ยุทธนาวรากรกล่าวถึงบทบาทของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ในช่วงระยะเวลานานกว่า 100 ปีที่พระที่นั่งฯ ตั้งอยู่ตรงนี้  มีเรื่องราวเกิดขึ้นและทับซ้อนกันอยู่ ณ ที่แห่งนี้ “พื้นที่หนึ่งมันก็จะมีสถานที่ทับซ้อนกัน อย่างที่นี่เป็นท้องพระโรง เป็นห้องจัดนิทรรศการพิเศษ  ดังนั้นมิติของสถานที่จะมีหลายมิติที่ทับซ้อนอยู่ในเวลาเดียวกัน  นี่คือจุดหนึ่งที่คุณใหม่อยากนำเสนอ”

ชื่อนิทรรศการที่ใช้คำว่า อิน ซิทู (In Situ) นั้นแปลว่า สถานที่ที่เป็นจุดกำเนิด ซึ่งคำนี้เป็นคำที่ใช้ในหลากหลายวงการ ทั้งในวงการแพทย์ ชีววิทยา วิศวกรรม การก่อสร้าง การออกแบบ อาหาร รวมถึงแวดวงโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วงการศิลปะ

ในวงการศิลปะอิน ซิทู หมายถึง การที่ศิลปินสร้างงานศิลปะในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งซึ่งได้กำหนดไว้แล้ว ดังนั้นชื่อของนิทรรศการเองก็ได้บ่งบอกถึงนัยของนิทรรศการว่าเป็นงานที่ให้ความสำคัญกับสถานที่และเป็นการทำงานของศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาเพื่อเปิดประสบการณ์ในการค้นหาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของวังหน้าผ่านผัสสะต่าง ๆ

การดึงคนยุคปัจจุบันให้มีส่วนร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ  รวมถึงให้ผู้เข้าชมงานเข้าใจ และเชื่อมโยงกับอดีตมากขึ้น

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีโอกาสได้สัมผัสงานแสดงศิลปะในบริเวณมุขกระสัน (ภาพ: บางกอกบิ๊กเอียรฺส์)

เมื่อก้าวเข้าไปในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จะพบกับหนังสือ 2 เล่มวางบนโต๊ะ ชื่อผลงาน One Million Years ของออน คาวารา หนังสือเล่มแรก คือ Past – For all those who have lived and died “อดีต –  แด่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว” ครอบคลุมช่วงเวลาระหว่าง 998,031  ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงปีคริสต์ศักราช 1969  ส่วนเล่มที่สอง Future – For the last one “อนาคต –  แด่ผู้มีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้าย” เริ่มตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช  1993 ถึงปีคริสต์ศักราช 1,001,992 

ศิลปินห้อยห่วงเหล็กไว้ภายในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ศิลปะการจัดตั้งสมัยใหม่เล่าเรื่องของคนลาวในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่นำศิลปะและดนตรีเข้ามาสร้างสีสันและท่วงทำนองให้กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะรอบ ๆ พระราชวังบวรสถานมงคล (ภาพ: บางกอกบิ๊กเอียร์ส)

เดินถัดเข้าไปอีกหน่อยจะเห็นห่วงเหล็ก 2 ห่วง แขวนห้อยลงมาล้อกับลูกแก้วปรอท (Mercury ball) ในตู้กระจกที่เปิดประตูตู้อยู่ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชื่อ “เรือนร่างของสิ่งที่ไม่มีอยู่นั้นเป็นรูปทรงกลม” ของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ตัวลูกแก้วปรอทถูกจัดวางสร้างบทสนทนากับห่วงโลหะ 2 ห่วงที่สลักเนื้อเพลงลาวแพนภาษาไทย และภาษาลาว

เนื้อเพลง “ลาวแพน” ภาษาลาว (ภาพ: บางกอกบิ๊กเอียร์ส)

เนื้อเพลง “ลาวแพน” ภาษาไทย (ภาพ: บางกอกบิ๊กเอียร์ส)

ลาวแพนเป็นบทเพลงที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง พูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3  ที่ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาเป็นเชลยศึกหลังจากที่ทัพเจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองลาวถูกตีแตก เพลงลาวแพนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทั้งชื่อ เนื้อร้อง และเครื่องดนตรีไปตามปัจจัยด้านเวลา การเมือง และด้านวัฒนธรรม ที่น่าสนใจคือเพลงลาวแพนยังคงอยู่ในแวดวงดนตรีของไทยจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีคนลาวจำนวนมากอาศัยอยู่รอบ ๆ กรุงเทพมหานคร คนลาวที่เดินทางมาจากแผ่นดินแม่นำศิลปะและดนตรี โดยเฉพาะแคนเข้ามาเล่นและเป็นที่นิยมในกรุงเทพมหานคร

ลูกแก้วปรอท
ลูกแก้วปรอทถูกจัดแสดงอยู่ในตู้ไม้ ที่ประตูเปิดให้คนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ (ภาพ: บางกอกบิ๊กเอียร์ส)

ชิ้นงานที่สามในผลงานของนิพันธ์ คือ ลูกแก้วปรอทจำลอง ซึ่งติดตั้งในพื้นที่เดิมของลูกแก้วปรอท ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เพื่อให้เกิดการสะท้อนจ้องดูระหว่างผู้เข้าชมงานและวัตถุ

ชิ้นงานที่น่าตื่นตาอีกชิ้นสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี คือ Untitled (state du miroir/ the mirror stage) ของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ที่ออกแบบโมบายแอพพลิเคชั่นให้โต้ตอบกับผู้ใช้งานผ่าน “ลับแล” สองบานซึ่งเป็นโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลับแล คือ เครื่องกั้นหรือบังตา เป็นแผงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบางครั้งก็มีการติดกระจก  มีขาตั้งขนาบ 2 ข้าง ยกย้ายได้ มักตั้งต่อช่องประตูเข้าไป บังตาคนภายนอกไม่ให้เห็นภายใน ลับแลจะทำหน้าที่สองประการ คือ ใช้ขับไล่วิญญาณร้าย และใช้เป็นฉากกั้นเขต สำหรับการชมงานชิ้นนี้ผู้ชมต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแล้ววางโทรศัพท์ไว้ในตำแหน่งระหว่างตนเองกับลับแล จึงจะถือว่าชมงานชิ้นนี้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์

นอกจากงานศิลปะการจัดวางจากศิลปิน 7 คน ที่จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ผู้สนใจยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดนิทรรศการ เช่น เข้าฟังการร้องเพลงประสานเสียงจากคณะสวนพลู ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในวันที่ 20 เมษายน 2562  หรือชิมอาหารตำรับโบราณผ่านการตีความของคนรุ่นใหม่อย่าง “เชฟ ตาม” ชุดารี เทพาคำ ผู้ชนะการประกวดท็อปเชฟไทยแลนด์คนแรก ในวันที่ 27 เมษายน 2562

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wangnaproject.com