เตียงนอน

ซิกส์เซ้นส์รีสอร์ท โรงแรมหรูระดับพรีเมี่ยม มีห้องพักให้บริการ 16 แห่งทั่วโลก ได้เปิดให้การบริการพิเศษเพื่อบำบัดอาการเจ็ทแลค ลดอาการอ่อนเพลียหลังจากเดินทางข้ามเขตเวลา (Time Zone) โดยเครื่องบินโดยสารติดต่อกันหลายชั่วโมง

ซิกเซ้นส์ รีสอร์ททำงานร่วมกับ Steven W. Lockley ผู้เชี่ยวชาญด้าน “นาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm)” จากโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ออกแบบโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่น “Timeshifter” เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็ทแลค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำโปรแกรมนี้ไปใช้งานกับนักบินอวกาศและนักกีฬาระดับแนวหน้าเพื่อลดอาการอ่อนเพลียที่เกิดจากการเดินทาง ในการร่วมงานกันครั้งนี้ ซิกส์เซ้นส์ รีสอร์ทได้โปรแกรมมาใช้ร่วมกับข้อมูลนิสัยการนอนของผู้เข้าพัก เพื่อนำมาบำบัดอาการเจ็ทแลค นักท่องเที่ยวใช้ห้องพักของซิกส์เซ้นส์รีสอร์ทสามารถใช้บริการ “Timeshifter” ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแต่ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนเดินทางถึงที่รีสอร์ท

ในปี 2562 เครือโรงแรม  Westin Hotels & Resorts ซึ่งมีโรงแรมมากกว่า 250 แห่งทั่วโลก วางแผนปรับปรุงห้องพักใหม่ (guestroom redesign) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การ “หลับดี”  เวสทินฯ เลือกใช้ไฟที่ออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อคุมบรรยากาศแสงเงาในห้องให้ดูนุ่มนวล ช่วยให้หลับสบายตลอดคืน ต่อไปเราคงไม่ได้เห็นโคมไฟมุมห้องหรือที่หัวเตียงอีกแล้ว

ส่วนโรงแรมแรมในกลุ่ม Four Seasons Hotels & Resorts ก็ให้ความสำคัญกับการนอนเช่นกัน โดยเปิดโอกาสให้นักเดินทางที่เข้าพักสามารถเลือกหมอนและผ้ารองนอน (mattress toppers) เลือกความหนานุ่มให้ถูกจริตการนอน นอกจากนี้ยังวางตัวช่วยอื่น ๆ ไว้ในห้องพัก เพื่อช่วยให้นอนหลับลึก เช่น เกลืออาบน้ำขัดผิวผสมน้ำมันหอมระเหยสกัดจากดอกลาเวนเดอร์ สเปรย์ฉีดหมอน หน้ากากปิดตา

นอนบนเครื่องบิน

ถ้าคุณไม่ได้เดินทางในห้องโดยสารชั้นธุรกิจ การหลับในเครื่องบินโดยสารเป็นสิ่งที่ยากและทรมานที่สุด ในพื้นที่แคบๆ หลายคนนั่งหลับได้ เพราะร่างกายทนความอ่อนล้าไม่ไหว

ในปี ค.ศ. 2007 โบอิ้งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรายแรก ที่นำเทคโนโลยีของแสงมาใช้ในห้องผู้โดยสารเครื่องบินโบอิ้งรุ่น B787 Dreamliner เพื่อช่วยลดอาการอ่อนล้าจากการเดินทางไกล ๆ ด้วยเครื่องบินโดยสาร

ทุกวันนี้เทคโนโลยีในห้องผู้โดยสารก้าวหน้าไปไกลมาก ลูกเรือสามารถสร้างบรรยากาศภายในห้องโดยสารให้เหมือนกับบรรยากาศที่จุดหมายปลายทาง

สายการบินนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับการเดินทาง ที่ระดับความสูง 10 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน

สิงคโปร์แอร์ไลน์
ห้องโดยสารชั้นประหยัด ในเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A350 (ภาพ/www.singaporeair.com)

ในห้องผู้โดยสารเครื่องบินโบอิ้ง (Boeing 737) ของสายการบินแอร์แคนาดา (Air Canada) ออกแบบให้ลูกเรือสามารถปรับความเข้มของแสงให้สอดคล้องกับเวลาและอารมณ์ หรือเรียกว่าระบบ “มู้ด ไลท์ติ้ง” (mood-lighting system) ด้วยความพิเศษของระบบไฟ ลูกเรือสามารถปรับแสง สร้างบรรยากาศได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เวลาโพล้เพล้จวนค่ำ ก่อนเสิร์ฟอาหารมื้อแรกบนเครื่องบิน หรือแสงยามเช้าเพื่อสร้างความกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง ระหว่างเสิร์ฟอาหารมื้อที่ 2 

นอกจากสายการบินแอร์แคนาดา สายการบินควอนตัส (Qantas) และสายการบินบริติชแอร์เวย์ส (British Airways) ได้นำระบบ “มู้ด ไลท์ติ้ง” ไปใช้ในห้องโดยสารเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น Boeing 787 แต่เพิ่มความพิเศษเข้าไปอีก ลูกเรือสามารถปรับบรรยากาศในห้องโดยสารให้เหมือนกับบรรยากาศที่จุดหมายปลายทาง เรียกว่าจำลองเวลาและบรรยากาศที่จุดหมายปลายทางไว้ในห้องโดยสารกันเลยทีเดียว อย่าลืมว่าอาการเจ็ทแลคเกิดจากร่างกายปรับตัวไม่ทันกับสภาพแวดล้อมที่จุดหมายปลายทาง การจำลองบรรยากาศของจุดหมายปลายทางไว้ในห้องโดยสาร อาจจะช่วยร่างกายให้ค่อย ๆ ปรับตัว เมื่อผู้โดยสารเดินออกจากเครื่องบินก็จะกระฉับกระเฉง พร้อมเที่ยว

นอกจากเครื่องบินโบอิ้งที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา เครื่องแอร์บัสของกลุ่มสหภาพยุโรปก็นำนวัตกรรมการจัดแสงมาใช้ในห้องโดยสารด้วยเช่นกัน ในเครื่องบินแอร์บัส A350 รุ่นยอดนิยมสำหรับการบินข้ามมหาสมุทร หรือบินในระยะทางไกล ๆ มีการออกแบบห้องโดยสารให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีของหลอดไฟ LED มาควบคุมแสง สี สร้างบรรยากาศในห้องผู้โดยสาร

ล่าสุดสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้นำเทคโลโนยีของไฟไปใช้กับห้องโดยสารในเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A350  เพื่อให้ลูกเรือและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสามารถสร้างบรรยากาศต่าง ๆ ของเวลาในแต่ละช่วงของวัน จากการปรับแสงที่เลือกได้มากกว่า 16 ล้านสี อยากได้บรรยากาศแบบไหน ลูกเรือสามารถจัดได้หมด เช่น แสงยามเช้า เที่ยงวัน พลบค่ำ มืด โดยไม่ต้องคำนึงว่าบรรยากาศนอกเครื่องบินจะเป็นอย่างไร

Sleep tight. Don’t miss your flight .

นอนในสนามบิน

Minute Suites
บริการห้องพักผ่อน พร้อมโซฟา ผ้าห่ม หมอน อินเทอร์เน็ต และภาพยนตร์จาก Netflix

ใครที่ยังจำบรรยากาศสนามบินในยุค 90 ได้คงพอจะยังนึกออก ในอดีตเรามักจะเห็นผู้โดยสารนอนกันตามพื้นอาคารผู้โดยสารขาออก บางคนรอขึ้นเครื่องบินหลังจาก “ไฟลท์ดีเลย์” บางคนเดินทางมาต่อเครื่องแต่ต้องนอนรอก่อน 4-5 ชั่วโมง หลายคนนอนไม่หลับ กังวลว่าจะตื่นไม่ทัน ต้องเขียนข้อความบนแผ่นกระดาษ “Please wake me up for my flight” แปะไว้ข้างๆ เพื่อขอให้คนที่เดินผ่านไปมาช่วยปลุกให้ทันเวลาขึ้นเครื่องบิน ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องลำบากขนาดนั้น

สนามบินหลายแห่งมีห้องพักเล็ก ๆ สะอาด ปลอดภัย พร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้ผู้โดยสารได้นอนพักผ่อนระหว่างรอขึ้นเครื่องบิน การบริการห้องพักในอาคารผู้โดยสารมีแนวโน้มว่าจะเปิดให้บริการมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทุกวันนี้มีคนเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้โดยสารนอนพักบนโซฟาของ Minute Suites ภายในอาคารผู้โดยสารขาออก สนามบิน Charlotte Douglas International Airport นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

ล่าสุดในสหรัฐอเมริกา มี Minute Suites เปิดให้บริการห้องพักในสนามบิน 6 แห่งทั่วอเมริกา รวมทั้งที่ Hartsfield-Jackson Atlanta International Airport และ Philadelphia International Airport ห้องพักเล็ก ๆ เหมือนห้องนั่งเล่นที่บ้าน มีที่นั่งโซฟาตัวยาวสำหรับเอนหลังหรือนอน ผ้าห่ม โต๊ะเล็กๆ สำหรับวางคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หนังจากเน็ตฟลิกซ์ บางที่มีห้องให้อาบน้ำและสปา เปิดให้ผู้โดยสารได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาพัก โดยสามารถเลือกพักแบบชั่วคราวหรือค้างคืน ราคาเริ่มต้นที่ 42 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อ 1 ชั่วโมง หรือราว ๆ  1400 บาท  ที่สำคัญคือห้องพักนี้อยู่ในอาคารผู้โดยสารขาออก อยู่หลังแนวจุดตรวจคนเข้าเมือง เมื่อได้พักผ่อนพอแล้วผู้โดยสารสามารถเดินไปที่ประตูทางออกขึ้นเครื่องบินได้เลย