ช่วงใกล้วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน (28 ธันวาคมของทุกปี) ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร  พระราชวังกรุงธนบุรีจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมได้โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า ปกติการเข้าชมพระราชวังกรุงธนบุรีต้องทำเรื่องขออนุญาตเข้าชมเป็นหมู่คณะ ในช่วงนี้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมพระราชวังเดิมสามารถเข้าออกได้ 2 ทาง คือ เข้าประตูด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ และประตูด้านข้างกำแพงวัดอรุณฯ 

พระราชวังเดิมหรือพระราชวังกรุงธนบุรี สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรี จึงได้รับการเรียกขานว่า พระราชวังเดิม

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ โดยทรงมีพระราชกระแสให้รักษาซ่อมแซมสิ่งที่ปลูกสร้างที่มีมาแต่เดิม ได้แก่ ท้องพระโรง  ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  พระตำหนักของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และศาลศีรษะปลาวาฬ ปัจจุบันโรงเรียนนายเรือย้ายไปอยู่ที่สมุทรปราการ ส่วนอาคารเดิมของโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิมนั้นใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือจนถึงทุกวันนี้

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ในพระราชวังกรุงธนบุรี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

พระราชวังเดิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้กับป้อมวิไชยประสิทธิ์ (เดิมชื่อป้อมวิไชยเยนทร์) ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยมีป้อมปราการมั่นคง สามารถมองสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อยู่ใกล้ทะเลทำให้สามารถควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออกได้ นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้ปากแม่น้ำหากมีเหตุให้ต้องเพลี่ยงพล้ำก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเลได้สะดวก

เล่ากันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตัดสินพระทัยเคลื่อนกำลังพลและรวบรวมไพร่พลมาเลือกเมืองใหม่ กระบวนเรือของพระองค์ท่านมาสว่างตรงบริเวณหน้าพระราชวังเดิมแห่งนี้ พระองค์ได้ทรงเลือกบริเวณนี้เป็นที่ตั้งพระราชวังกรุงธนบุรี

ตำหนักเก๋งคู่ สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังกรุงธนบุรี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ พระราชวังเดิมเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ ซึ่งทุกพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภายในพระราชวังเดิมมีโบราณสถานที่สำคัญมากมาย ได้แก่ ท้องพระโรงกรุงธนบุรีซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง ใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประกอบพระราชพิธีที่สำคัญมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี และพระที่นั่งองค์ทิศใต้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งองค์แรก เรียกกันว่าพระที่นั่งขวางเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ พระตำหนักเก๋งคู่ พระตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อาคารเรือนเขียว ศาลศีรษะปลาวาฬ และป้อมวิไชยประสิทธิ์

ศาลศีรษะปลาวาฬ ตั้งอยู่ในพระราชวังกรุงธนบุรี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ปัจจุบัน พระราชวังกรุงธนบุรีอยู่ในความดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม และกองบัญชาการกองทัพเรือ

ปกติการเยี่ยมชมจะต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะ และทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 1 – 2 สัปดาห์ มีค่าธรรมเนียมบำรุงโบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ผู้ใหญ่ ราคาคนละ 100 บาท และเด็ก ราคาคนละ 50 บาท


รถ ราง เรือ … เลือกอะไรดี

ในวันธรรมดา นักท่องเที่ยวไม่สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าจอดภายในพระราชวังเดิมเนื่องจากมีรถยนต์ข้าราชการจอดเต็มบริเวณพื้นที่ สำหรับในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจอดภายในกองบัญชาการกองทัพเรือได้

นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งตะวันออกไปขึ้นท่าน้ำหน้าวัดอรุณ จากนั้นเดินเท้าอีกประมาณ 5 นาทีก็จะถึงพระราชวังเดิม

เนื่องจากพระราชวังเดิมตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ผู้เยี่ยมชมอาจต้องนำบัตรประชาชนใช้แลกบัตรผ่าน ตามระเบียบการรักษาความปลอดภัย

รายละเอียดอื่น ๆ

พระราชวังเดิมหรือพระราชวังกรุงธนบุรี เปิดให้เข้าชมได้ระหว่างวันที่ 15-28 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

การเข้าชมพระราชวังธนบุรีผู้เข้าชมควรแต่งตัวสุภาพและเข้าชมด้วยความสงบเหมือนการเข้าชมพระบรมมหาราชวัง ทุกท่านสามารถเข้าชมภาพและมัลติมีเดียฉายประวัติพระราชวังเดิม และความเป็นมาอาคารต่างๆ ที่เรือนเขียว (มีสองภาษา ไทย/อังกฤษ) ซึ่งจะจัดฉายเป็นรอบตามตารางเวลา เมื่อรับชมแล้วสามารถขอรับเอกสารแนะนำสถานที่เพื่อเดินชมจุดต่างๆได้ด้วยตัวเอง 

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม หรือโทรศัพท์ 0 2475 4117, 0 2466 9355 และ 02472 7291


เที่ยวต่อ…

รอบ ๆ พระราชวังกรุงธนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ตั้งแต่วัดวาอาราม ศาลเจ้าจีน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และแหล่งช้อปปิ้งที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ในย่านคลองสาน ถ้าเราวางแผนการเดินทางดี ๆ จะทำให้การเดินทางไปชมพระราชวังกรุงธนบุรีสนุก และมีความหมายยิ่งขึ้น 

ศาลเจ้าเกียนอันเกง
ศาลเจ้าเกียนอันเกง กุฎีจีน (ภาพ/ธนิศร หลักชัย)

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดแจ้ง วัดอรุณฯ วัดมะกอก คือวัดเดียวกัน วัดนี้เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นสมัยอยุธยาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับในปี พ.ศ.2310 พระองค์ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานมาทางทิศเหนือจนทำให้วัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง วัดอรุณเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322 ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี พ.ศ. 2327 นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์ โบราณสถานสำคัญคู่วัดอรุณฯ เป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พระปรางค์องค์แรกมีความสูงเพียง 16 เมตร โดยพระปรางค์องค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในปี พ.ศ. 2363 ใช้เวลาสร้าง 9 ปี

วัดซางตาครู้ส

วัดซางตาครู้สเป็นศาสนสถานสำคัญที่อยู่คู่กับชุมชนกุฎีจีน ซึ่งเป็นชุมชมเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานที่ดินให้แก่ชาวโปรตุเกสซึ่งร่วมทำศึกต่อต้านพม่าจนได้รับชัยชนะ นักบวชชาวโปรตุเกสก่อสร้างอาคารวัดหลังแรกด้วยไม้ทั้งหมดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2313 ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชนในปี พ.ศ. 2376 ทำให้อาคารพังเสียหายทั้งหมดจึงต้องก่อสร้างใหม่ด้วยอิฐและปูน จากนั้นได้ก่อสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งคืออาคารหลังที่เห็นในปัจจุบัน

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

วัดนี้สร้างขึ้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 3 เพื่อให้กรุงรัตนโกสินทร์มีพระโตอยู่นอกกำแพงเมือง แบบเดียวกับกรุงเก่าที่มีวัดพนัญเชิง เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียงซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ และเรียกกันต่อมาว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน” สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2368 ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อพระพุทธไตรรัตนนายกอยู่ในวิหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่นับถือของชุมชนย่านนี้

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

เมื่อมีโอกาสได้เยี่ยมชมพระราชวังเดิม ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของกรุงธนบุรี เราควรหาโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ๆ ของคนเชื้อสายจีน กำลังสำคัญที่ช่วยสร้างชาติ สร้างกรุงในยุคธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ศาลเจ้าเกียนอันเกงตั้งอยู่ในชุมชนกุฎีจีน ติดกับวัดกัลยาณมิตร เล่ากันว่าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นผู้สร้างศาลเจ้าเกียนอันเกงขึ้น โดยมีเจ้าแม่กวนอิมเป็นเทพองค์ประธาน ภายในศาลเจ้ามีสิ่งของล้ำค่าที่ได้รับการอนุรักษ์คือไม้แกะสลักที่มีความประณีตงดงาม แสดงให้เห็นว่าชาวฮกเกี้ยนไม่ได้เก่งแค่เรื่องเหล็กเท่านั้น ภายนอกศาลเจ้ามุงด้วยกระเบื้องโค้งตามแบบจีนแท้ ศาลเจ้าได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

เดินเที่ยวย่านฝั่งธนบุรี ยากนักที่จะไม่เห็นร่องรอยบทบาทและอิทธิพลของตระกูลบุนนาคที่มีต่อการสร้างกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงตอนกลาง วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารสร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ภายในวัดประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธนาค พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สร้างขึ้นสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นที่นับถือของคนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงนี้วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารเป็นหนึ่งในสถานที่จัดแสดงงานศิลปะในเทศกาล Bangkok Art Biennale โดยมีงานที่น่าสนใจจากศิลปินชาวไทยคือ นีโน่ สาระบุตร ที่โรยหัวกระโหลกเซรามิก 125,000 ชิ้นบนทางเดินรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ อีกคนหนึ่งคือมณเฑียร บุญมา ผู้นำเสนอผลงาน Zodiac Houses ในศาลาการเปรียญ ประติมากรรมสไตล์โกธิคสีดำใช้สัญลักษณ์จักรราศีเพื่อแสวงหาความสงบ การเกิดใหม่ และการติดต่อกับโลกหลังความตาย

ไอคอนสยาม

ห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านคลองสาน เพียบพร้อมด้วยสินค้ามากมายให้เลือกซื้อและร้านอาหารขึ้นชื่อในย่านธนบุรี ให้ผู้สนใจได้ลิ้มรสที่ชั้น “สุขสยาม”