เที่ยว “ปากมัน” ที่ราชบุรี

บางแพจัดหนัก เตรียมกุ้งเผา กุ้งเขย่าหม้อ และอาหารหลายรายการทำจากกุ้ง รอรับ "นักกินกุ้ง" และนักเดินทาง ในเทศกาลกินกุ้งบางแพ ระหว่างวันที่ 7 - 10 ธันวาคม 2561 เริ่มเสิร์ฟตั้งเวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

0
4643
กุ้งก้ามกรามเผา – อร่อยกันเต็มปากเต็มคำ (เต็มไม้เต็มมือ) กับกุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ๆ นำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู ในงานเทศกาลกินกุ้ง อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

ช่วงเดือนธันวาคมในแต่ละปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ร่วมกันจัดเทศกาลท่องเที่ยวและอาหาร ชักชวนนักท่องเที่ยวสายกิน เที่ยวงานกินกุ้งบางแพ ภายในงานเกษตรกรนำกุ้งขาว กุ้งก้ามกราม จับใหม่ ๆ สด ๆ มาจำหน่าย ก่อนนำไปทำอาหาร เช่น ต้มยำกุ้งรสแซ่บ ทอดมันกุ้ง ซูชิหน้ากุ้ง สเต็กกุ้ง กุ้งอบเกลือ กุ้งอบชีส มากกว่า 100 รายการให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง ช่วง 7-10 ธันวาคมของปีนี้  ในราคาย่อมเยากว่าทุกที่

กุ้งอบเนยโรยกระเทียมเจียว หนึ่งในเมนูยอดนิยม ในช่วงเทศกาลกินกุ้งบางแพ จังหวัดราชบุรี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ปีนี้เทศกาลกินกุ้งบางแพจัดระหว่างวันที่ 7 – 10 ธันวาคม 2561 เริ่มเสิร์ฟกันตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

“ทุกข์ของคนชอบกินกุ้งคือหากุ้งสด ๆ กินไม่ได้ บางคนทุกข์ยิ่งกว่าคนอื่น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากุ้งที่สภาพสด ๆ เป็นอย่างไร กุ้งสดเปลือกกุ้งต้องแข็ง วาวเงาเหมือนทาด้วยเนยหรือน้ำมัน เมื่อเราใช้มือบีบเนื้อจะแข็งสู้มือ นั่นคือกุ้งสด ๆ ที่เพิ่งจับออกมาจากบ่อกุ้ง
ในช่วง 7-10 ธันวาคม นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานกินกุ้งจะได้กินกุ้งสดแบบนี้ทุกตัว กุ้งไม่สดเราจะไม่นำมาขาย งานนี้เราอยากให้นักท่องเที่ยวรู้จักกุ้งบางแพ เราจึงคัดกุ้งที่ดีที่สุดมาทำอาหารห้นักท่องเที่ยว”
– คุณประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว เจ้าของฟาร์มกุ้งบางแพ และนายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย

กุ้งทุกชนิดที่ขายในงานกินกุ้งบางแพ ราคาถูกกว่าซื้อกินที่ร้านอาหารประมาณ 20 เปอร์เซนต์ เนื่องจากเป็นการขายตรงจากกลุ่มเกษตรกร

อำเภอบางแพ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ห่างจากสนามหลวงประมาณ 80 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปได้หลายทาง เช่น ถนนบรมราชชนนี ขับผ่านศาลายา มุ่งหน้าเส้นทางหมายเลข 4 หรือใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ก็สะดวกเช่นกัน

นากุ้งบางแพ ใช้การจัดการฟาร์มแบบยั่งยืน โดยใช้จุลินทรีย์จากธรรมชาติบำบัดบ่อกุ้งแทนการใช้สารเคมี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

นักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและมีเวลาน้อย สามารถเดินทางไปกลับในวันเดียวได้ เพื่อร่วมงานกินกุ้งบางแพ สำหรับนักท่องเที่ยวที่วางแผนเที่ยวต่อ จังหวัดราชบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ในช่วงเวลาเดียวกับงานกินกุ้งบางแพ จังหวัดราชบุรีก็มีงานเทศกาลหุ่นฟาง ที่ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม  นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวโครงการพระราชดำริ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม ที่จัดงานท่องเที่ยวเชิงเกษตรในวันที่ 5 ธันวาคม เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  9 กษัตริย์ผู้มีความสามารถและความเพียร คิดค้นวิธีการปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้ฟื้นตัว สร้างความอุดมสมบูรณ์จนสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก (World Soil Day)

บางแพ
ปลาช่อนนึ่งจิ้มแจ่ว เมนูรสแซ่บ ในเทศกาลกินกุ้งบางแพ (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

อำเภอบางแพเป็นแหล่งผลิตกุ้งขาวและกุ้งก้ามกรามชั้นดีของประเทศไทย ในแต่ละปีเกษตรกรผลิตกุ้งขาวได้ 16,000 ตัน และกุ้งก้ามกราม 3,000 ตัน กุ้งส่วนมากส่งออกขายต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีปลาช่อน ปลานิล โดยเฉพาะปลานิลของอำเภอบางแพ เนื้อไม่มีกลิ่นสาบโคลน เนื่องจากเลี้ยงในกระชัง ปลาไม่ได้ลงไปว่ายน้ำที่ก้นสระ ในช่วงเทศกาลกินกุ้งนักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสชิมปลาเผาเนื้อหวาน ๆ กับน้ำจิ้มรสเด็ดของชาวอำเภอบางแพ

บางแพ
คุณสรียา บุญมาก ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบุรี ยกกุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ๆ เพิ่งจับขึ้นจากบ่อกุ้ง (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

คุณประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว เจ้าของฟาร์มกุ้งบางแพ ที่มีเนื้อที่ 100 กว่าไร่เล่าว่า คนบางแพเป็นคนโชคดี มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จริง ๆ แล้วเป็นความโชคดีหลังความโชคร้าย เกิดจากการพลิกแพลงไม่จำนนต่อข้อจำกัดของธรรมชาติ

“สมัยก่อนเมื่อยังไม่ได้ทำนากุ้ง พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าธูปฤาษี ชาวบ้านเรียกว่าป่าปรือ มีน้ำท่วมขังตลอดปี ไม่มีใครหน้าไหนทำนาได้สำเร็จ เมื่อน้ำท่วมมาก ๆ ข้าวก็ลอย เก็บเกี่ยวมาก็กินไม่ได้” คุณประกอบเล่าเรื่องพื้นที่เลี้ยงกุ้ง ที่เคยเป็นพื้นที่น้ำท่วมผืนใหญ่  “เรามาค้นพบว่าพื้นที่แบบนี้มีศักยภาพสูงในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรานำกุ้งมาเลี้ยงปรากฏว่าประสบความสำเร็จดีมาก ได้กุ้งสีสวย ผิวมัน โดดเด่น เห็นแล้วรู้ว่ากุ้งบางแพ”

คุณประกอบเล่าอีกว่ากุ้งของบางแพส่วนใหญ่เลี้ยงโดยไม่ใช้สารเคมีบำบัดในบ่อ แต่ใช้จุลินทรีย์จากธรรมชาติ ผสมกับการจัดการฟาร์มแบบสมัยใหม่ ทำให้บ่อเลี้ยงกุ้งไม่เสื่อมโทรม ไม่ต้องย้ายบ่อไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องทิ้งบ่อเก่าให้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้านักท่องเที่ยวมีโอกาสขับรถผ่านฟาร์มกุ้งในอำเภอบางแพ จะมองเห็นบ่อกุ้งขนาดใหญ่ มีกังหันหมุนตีน้ำอยู่ในบ่อ เพื่อเติมออกซิเจนให้กุ้ง

“การเลี้ยงกุ้งที่ดีคือ เราต้องเลี้ยงน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ดูแลน้ำให้สะอาด อีก 50 เปอร์เซ็นต์คือการดูแลกุ้ง การเลี้ยงกุ้งที่ดีคือการรักษาสภาพน้ำ รักษาบ้านของกุ้ง ถ้าสภาพน้ำดี กุ้งก็จะดี” คุณประกอบกล่าวทิ้งท้ายก่อนพาไปแนะนำให้รู้จักเมนู “กุ้งเขย่าหม้อ”


กุ้งเขย่าหม้อ
กุ้งทำอะไรกินก็อร่อย กุ้งแช่น้ำปลา กุ้งเผา กุ้งอบภูเขาไฟ ชอบกินแบบไหนก็จัดไป ขออย่างเดียว อย่าทำกุ้งกินข้างบ่อกุ้ง คนเลี้ยงกุ้งเขาถือ เชื่อกันว่าจะซวยหนัก กุ้งตายหมด อย่างไรก็ตามในวันแถลงข่าวงาน “สืบสานประเพณี เทศกาลกินกุ้ง ของดีบางแพ” ที่มีแขกมาร่วมงานกันเต็มทุ่งบางแพ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายอำเภอบางแพ และสื่อมวลชน เจ้าของฟาร์มใจถึงอย่างคุณประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว ก็อดไม่ได้ต้องทำอาหารโชว์ความสดของกุ้งบางแพ
คุณประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว เจ้าของฟาร์มกุ้ง อ. บางแพ ยกแหที่เต็มไปด้วยกุ้งก้ามกรามสด ๆ รอนักท่องเที่ยวมาลิ้มรสเมนูหลากหลาย ทำจากกุ้งบางแพ (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

“วันนี้คงไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ทำกุ้งเผา” คุณประกอบเล่าเหมือนปลอบใจตัวเอง “ถ้ากุ้งเผานี่ ไม่ได้เลย ผมเจอกับตัวเอง เผากินกันข้างบ่อ ปีนั้นไม่ได้กุ้งขายสักตัว ตายหมดเลย”

เมนูพิเศษของคุณประกอบคือ กุ้งเขย่าหม้อ

“ตอนแรกผมตั้งใจจะเรียกเมนูนี้ว่ากุ้งเขย่าหม้อ แต่วันนี้มีแขกมากันเยอะขอเปลี่ยนชื่อเป็นกุ้งเขย่าใจ” คุณประกอบเล่าให้ฟัง พูดติดตลกแต่ยังวางมาดเข้ม จัดการเทกุ้งขาวยังไม่ได้แกะเปลือกลงไปเกือบครึ่งหม้อสแตนเลส

“กุ้งเขย่าหม้อเป็นเมนูง่าย ๆ ขั้นตอนคือล้างกุ้งให้สะอาด เทใส่หม้อ เทซอสใส่ให้ทั่วกุ้ง จากนั้นก็ปิดฝา ตั้งไฟ แล้วก็เขย่าหม้อบ่อย ๆ สลับกับตั้งวางบนเตาไฟ ให้กุ้งโดนความร้อนจนสุก” คุณประกอบอธิบายไป พร้อมกับเขย่าหม้อให้ดูอย่างมืออาชีพ

ช่วงแรก ๆ ความร้อนจะทำให้กุ้งคายน้ำออกมา เปลือกกุ้งค่อย ๆ เป็นสีชมพู เมื่อเขย่าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกุ้งใกล้สุก กุ้งจะดูดน้ำในหม้อกลับมาที่ตัวอีกครั้ง ถ้าเห็นว่าน้ำในหม้อเริ่มแห้ง ก็ถือว่ากุ้งสุกพร้อมกินกับน้ำจิ้มรสแซ่บ

กุ้งเขย่าจะได้กุ้งสุกคล้าย ๆ กับการนำกุ้งไปนึ่ง แต่เนื้อกุ้งเขย่าจะนุ่ม รสชาติดีกว่ากุ้งนึ่ง

“กุ้งเขย่าเนื้อนุ่มกว่ากุ้งนึ่ง กุ้งนึ่งเนื้อแข็ง หยาบ เพราะกุ้งเสียน้ำที่หยดลงก้นหม้อนึ่ง ทำให้เนื้อแห้ง แต่กุ้งเขย่าจะนุ่ม หวาน เพราะกุ้งดึงน้ำจากก้นหม้อกลับมาใช้อีก เคี้ยวไม่กระด้างปาก” คุณประกอบยืนยันความอร่อย สูตรเด็ดที่ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ทางปัญญา นักท่องเที่ยวที่ชอบกินกุ้งสามารถไปหัดเขย่าหม้อที่บ้านได้


การเดินทาง

นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่ว่าการอำเภอบางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี โทรศัพท์ 032 381 067 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานราชบุรี อีเมล tatratchaburi@tat.or.th และ Facebook Fanpage : Amazing ไทยเท่ ราชบุรี – นครปฐม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ณ สัทธา

ราชบุรี – ณ สัทธา เฟสติวัล 2018 จัดเทศกาลแห่งความสุข ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ เที่ยวกันยาวตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ถึงต้นเดือนมกราคมปีหน้า