Awakening Bangkok – ศิลปะพาคนเดิน

งานแสดงศิลปะการจัดวางแสงสี (light art installation) มีให้ชมถึงคืนวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ลองออกไปเดินดูงานของศิลปินที่เนรมิตแสงสียามค่ำคืนให้ย่านเจริญกรุงแตกต่างจากเดิม

0
2749
"ฟลอร์เฟื่องฟ้า" ศิลปินจัดแสงสีพาอดีตและปัจจุบันมาพบกันในบ้านพักตำรวจน้ำ บ้านโบราณอายุกว่า 100 ปี ท้ายซอยเจริญกรุง 36 (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ช่วงนี้แม่น้ำเจ้าพระยามีมนต์ ดึงดูดคนกรุงเทพฯ ไปเดินรวมกันอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ไม่ว่าจะ “เดินห้าง” ในไอคอนสยาม ย่านคลองสาน  หรือ “เดินชม” งานสมโภชวัดโพธิ์ที่เพิ่งจบไป แล้วเดินกันต่อกับงานศิลปะ บางกอกอาร์ท เบียนนาเล่  ที่กำลังจัดแสดงอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ถือว่าเป็นโอกาสดีสำหรับคนที่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอะไรให้คนเดินดินได้ดูบ้าง

คนที่ชอบเดินดูแสงสีของกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน ช่วง 10 วันนี้ (16 – 25 พฤศจิกายน) ย่านถนนเจริญกรุงมีงานศิลปะ Awakening Bangkok ให้ได้เดินชมศิลปะแสงสี (light art installation) ตั้งแต่ประมาณ 6 โมงเย็น ถึง 5 ทุ่ม งานเล็ก ๆ ของศิลปินชาวไทยและต่างประเทศ ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานจากศิลปะและวิทยาศาสตร์  มีรูปทรงและสีสันสวยงาม ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมและสัมผัสงานศิลปะได้ สร้างความสนุกสนานและความฉงนสนเท่ห์ไปพร้อม ๆ กัน ในระหว่างเข้าชม

“ฟลอร์เฟื่องฟ้า” (Floor Fuang Fah) ศิลปินจัดแสงในบ้านพักตำรวจน้ำ ซอยเจริญกรุง 36 (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

เราเริ่มกันที่ลานหน้าตึกไปรษณีย์บางรัก ใกล้ ๆ กับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ “ยานแม่” ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ใกล้ประตูทางเข้าอาคารด้านแม่น้ำเจ้าพระยามีงานแสดงศิลปะจัดโดยออปโป้ Oppo นำงานแสดงชุด “Seize the Night” มาให้ดู  โดยใช้เทคนิคปล่อยแสง สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน ออกมาอาบระลอกคลื่นของน้ำแข็งแห้งที่ลอยอยู่ในอากาศ เกิดลอนคลื่น 2 ชั้น ไหลซ้อนกันเหมือนแสงออโรราในแถบขั้วโลก แน่นอนความยิ่งใหญ่ของแสงประดิษฐ์ห่างไกลจากแสงออโรราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ “ออโรรา” ของออปโป้สวยและน่าทึ่งมากพอที่จะทำให้ทุกคนต้องควักโทรศัพท์ออกมาถ่ายรูป  สำหรับคนที่รัก หลงใหล หรือฉงนสนเท่ห์กับความสัมพันธ์ระหว่างแสงและสี แนะนำว่าต้องหาที่นั่งดูนาน ๆ เด็ก ๆ จะมีโอกาสได้สนุกกับการไล่จับเส้นแสงที่สาดส่อง หมุนวนอยู่บนพื้นคอนกรีต

“ชิ้นงานแสดงศิลปะแสงสีทุกชิ้นเป็นงานแบบปลายเปิด ไม่มีความหมายตายตัว ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของคนดู ที่ทำให้เข้าใจศิลปะแตกต่างกันไป” คุณพงศธร โกยสมบูรณ์ หรือคุณท็อป บรรณาธิการ Time Out Bangkok หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานครั้งนี้บอกกับเราว่า ไม่ต้องพยายามตีความหมายของงานศิลปะให้เหมือนกัน ราวกับจะบอกว่าไม่ต้องกังวลกับการแสดงชุดต่อไป

พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแสงสีจุดต่อไปอยู่ในชั้นใต้ดินของอาคารไปรษณีย์บางรัก ห้องโถงขนาดใหญ่พอสำหรับใส่ตู้รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ 2 ตู้ สถานที่จัดงานศิลปะชุด The Uncertainty of the Uniform นี้ ศิลปินปิดไฟหมดทุกดวง มีเพียงแสงสว่างที่ส่องผ่านบานกระจกใสมาจากภายนอก ด้านในมีไฟสปอร์ตไลท์ขนาดใหญ่ 2 ดวง ติดตั้งอยู่คนละด้านของผนัง ส่องแสงจ้าหากันตลอดเวลา บางครั้งก็กระพริบ รัวถี่ยิบ ทุก ๆ 1 วินาที ตามจังหวะเสียงกลองไฟฟ้าจากเพลงประกอบแนวเฮ้าส์ (house music) ประสานกับเสียงดังระเบิดที่ศิลปินนำมาประกอบการจัดแสดงแสงสี แต่ละคนที่เข้ามาชมตอบสนองกับงานศิลปะชุดนี้ไปต่าง ๆ นานา

บางคนก็ยืนเป็นแบบให้เพื่อนถ่ายรูป คิดเสียว่าแสงไฟจากสปอร์ตไลท์คือไฟบนแคทวอร์ค  บางคนก็ยืนดูนิ่ง ๆ พยายามทำความรู้จักกับระบบนิเวศน์ใหม่ที่ศิลปินสร้างขึ้น  ตัวผมนึกถึงความอึดอัดในสังคมเมือง ที่เต็มไปด้วยสี แสง และเสียงที่ถั่งโถมเข้ามาพร้อม ๆ กันแต่กลับไม่มีความหมายอะไร นอกจากความรำคาญและความอึดอัด  ส่วนคนอื่นอาจคิดไม่เหมือนผม คงต้องให้ลองเดินลงไปสัมผัสเองครับ

ด้านข้างของตึกไปรษณีย์กลาง ในซอยเจริญกรุง 32  เป็นพื้นที่ทับซ้อนทางศิลปะ ก่อนหน้านี้มีศิลปินมาพ่นสี สร้างงานศิลปะดิบ ๆ แนวสตรีทอาร์ทบนกำแพง ถ้าเราเดินเข้าไปช่วงงาน Awakening Bangkok จะพบงานศิลปะแสงสี จำนวน 4 ชิ้น จัดแสดงตั้งแต่ต้นซอยจนเกือบถึงท้ายซอย มีงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ศิลปินใช้แสง ปล่อยผ่านกลุ่มควันน้ำแข็งแห้งทำให้ดูเหมือนถนนในซอยอยู่ใต้น้ำ

Awakening Bangkok
“Submerged” โดย Saturate Design Studio จัดแสดงในซอยเจริญกรุง 32 ภาพ/พูวดล ดวงมี

ปัจจุบันนี้ย่านเก่าละแวกเจริญกรุงกำลังเปลี่ยนโฉมเป็นย่านสร้างสรรค์ โดยได้แรงสนับสนุนจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ  ชักชวนผู้ประกอบการใหม่ ๆ เข้ามาทำธุรกิจ ด้วยการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดธุรกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร งานออกแบบ ทัวร์เดินดูวิถีชีวิตในชุมชน  ถ้าเดินดูงานศิลปะแล้วเริ่มขาล้า อ่อนแรง กระหายเครื่องดื่มเย็น ๆ ย่านนี้มีร้านอาหารน่านั่งมากมาย เช่น แวร์เฮ้าส์ 30 (Warehouse 30) ที่สถาปนิกชื่อดัง คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค และคุณรังสิมา กสิกรานันท์ อดีตบรรณาธิการของนิตยสาร Elle Decor ช่วยกันสร้าง ตกแต่งโกดังเก่า จำนวน 7 หลังให้เป็นร้านอาหารและแหล่งช้อปปิ้งขนาดย่อม ถัดไปในซอย 28 มี ทรอปปิค ซิตี้ (Tropic City) บาร์เหล้าเก๋ ๆ ที่บาร์เทนเดอร์ชาวสวีเดนแปลงโฉมบ้านเก่าในซอยเจริญกรุง 28 ให้เป็นสวรรค์ของนักเดินสายดื่ม ถ้าอยากหาที่นั่งดื่มเพื่อพูดคุยเรื่องศิลปะที่เพิ่งได้ดูมา ย่านถนนเจริญกรุงมีร้านน่านั่งหลายร้าน

เราหันหลังให้แม่น้ำเจ้าพระยา ค่อย ๆ เดินผ่านซอยเจริญกรุง 34 แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอย 36 ปากทางเข้าสถานทูตฝรั่งเศส มัสยิดฮารูณ และศุลกสถาน (สถานีดับเพลิงบางรัก) ในซอยเล็ก ๆ แห่งนี้มีงานจัดแสดงแสงสีหลายจุดที่น่าสนใจ จุดแรกอยู่หน้าร้านอาหารฝรั่งเศส French St. สไตล์สตรีทฟู้ดที่ O.P. Garden เราพบศิลปินหนุ่มชาวไทยยืนอยู่ข้าง ๆ งานของเขาที่ทำจากหุ่นพลาสติก ขนาดเท่าคนจริง หัวของหุ่นทำจากกล้องวงจรปิด CCTV เชื่อมต่อกับมอเตอร์ ทำให้สามารถส่ายหัว หันซ้าย หันขวาเหมือนหุ่นยนต์กำลังมองหาเป้าหมาย

“กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เต็มไปด้วยกล้องวงจรปิด ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้า ยืนอยู่ริมถนน เดินไปในตรอก ยืนอยู่ในสถานีรถไฟฟ้า เมื่อใดที่เราแหงนหน้าหน้ามองขึ้นไปข้างบนเราจะเห็นกล้อง CCTV กำลังจ้องมองเราอยู่ตลอดเวลา แม้ว่ากล้องวงจรปิดถูกนำมาใช้กับการรักษาความปลอดภัย แต่การมีกล้องจำนวนมากมาจับตาดูคนเราตลอดเวลาก็ทำให้คนรู้สึกอึดอัด ที่สำคัญทำให้เราสงสัยว่าที่นั่นปลอดภัยจริงหรือ” ศิลปินหนุ่มจาก “The Pagan Pilgrim” อธิบายงานศิลปะชิ้นนี้ให้พวกเราฟัง หุ่น 2 ตัว ที่นำมาแสดงมีตัวหนังสือเขียนเป็นคำทักทายด้วยภาษาต่าง ๆ ติดอยู่ที่ตัว เราสามารถเข้าไปเล่นกับหุ่นได้ เมื่อยื่นมือไปที่หน้ากล้อง กล้องจะหมุนตามความเคลื่อนไหวของมือเรา

Awakening Bangkok
ผลงาน “Under Surveillance” จัดแสดงที่ O.P. Garden ซอยเจริญกรุง 36 (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

เดินเข้าไปท้ายซอย ย่านชุมชนมุสลิมรอบ ๆ สถานทูตฝรั่งเศสและมัสยิดฮารูณจะพบงานแสดงศิลปะอีกหลายจุด ด้านตรงข้ามกับสถานทูตฯ หลังซุ้มขายเครื่องดื่มมีการจัดแสดงแสงสีในบ้านไม้เก่า ๆ รูปทรงโบราณ อายุอานามน่าจะใกล้เคียงกับอาคารศุลกสถาน ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าใครไม่เคยเดินผ่านบ้านหลังนี้ช่วงกลางคืนจะรู้สึกหลอน ๆ เสียวสันหลัง กลัวว่าอดีตกับปัจจุบันจะมาเจอกันในบรรยากาศชวนขนหัวลุกของซอยเจริญกรุง 36 ในอดีตบ้านหลังนี้น่าจะเป็นบ้านของคนมีฐานะที่มักมีงานเลี้ยงต้อนรับแขกต่างชาติ ทุกวันนี้บ้านเก่าทรงโบราณหลังนี้ถูกใช้งานเป็นบ้านพักตำรวจน้ำและกำลังจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในอาคารอนุรักษ์จากกรมศิลปากร

ศิลปิน Leftover Studio เข้ามาจัด “ฟลอร์เฟื่องฟ้า” อาศัยแสงไฟสลัว ๆ นำพาเราย้อนกลับไปในอดีต ในวันที่บ้านโบราณหลังนี้กำลังจัดงานรื่นเริง แค่ได้ยินชื่อผลงานในหูก็แว่วเสียงเพลงฟลอร์เฟื่องฟ้า ของสุนทราภรณ์ พร้อมบรรยากาศงานเต้นรำที่หนุ่มสาวแต่งตัวสวยงามราว “เทพบุตรนางฟ้าไทย เยื้องกรายเต้นไป ย้ายไป โยกมา”

ศิลปินดับไฟบ้านหมดทุกดวง (ถ้าบ้านนี้ยังมีไฟฟ้าใช้) ตกแต่งใหม่ด้วยไฟประดับใช้สำหรับงานลื้ยง โคมระย้าดวงเล็กห้อยติดเพดาน ส่องแสงสลัว ๆ เพียงแค่มองเห็นขั้นบันไดและบานไม้ฉลุ  บนพื้นทางเดินมีไฟดวงเล็ก ๆ ตั้งบนฐานทองเหลืองรูปทรงโบราณคล้ายเชิงเทียน ส่องแสงชี้ชวนให้เราสืบเท้าเข้าไปที่หลังบ้าน โคมไฟสองดวงส่องแสงริบหรี่อยู่ในสวน ที่ดูค่อนข้างรกร้างเหมือนกับว่าไม่มีใครเข้ามาตัดหญ้าเลยตั้งแต่เจ้าของบ้านคนแรกไม่อยู่  ถ้าเราตั้งใจฟังดี ๆ จะได้ยินดนตรีเบาๆ ลอดออกมาจากมุมไหนสักแห่งในบ้านหลังนี้ สร้างอารมณ์และความรู้สึกคล้ายกับว่าเราแอบเข้ามาชะโงกดูงานรื่นเริงในบ้านคนอื่น แต่กลับมองไม่เห็นแขกเหรื่อสักคน จู่ ๆ ผมก็นึกถึงฉากในหนังเรื่อง “The Others” ตอนคนในบ้านวิ่งซ่อนตัวกันวุ่นวายเพราะคิดว่ามี “อะไร” อยู่ในบ้านด้วย

“ฟลอร์เฟื่องฟ้า” (Floor Fuang Fah) โดย Leftover Studio จัดที่บ้านพักตำรวจน้ำ ซอยเจริญกรุง 36 ภาพ/พูวดล ดวงมี

ใกล้ ๆ กับบ้านพักตำรวจน้ำหลังนี้ มีงานแสดงอีกหลายชุด อย่างที่บริเวณสนามหญ้าหน้าอพาร์ทเม้นท์ในเขตชุมชนมัสยิดฮารูณ (พื้นดินบางส่วนเคยเป็นกุโบร์) คุณพัทธมน นิศาบดี ศิลปินชาวไทยจัดแสดง “การเดินทางของเวลา” โดยนำบานกระจกที่ใช้เทคนิคการไดคัท (Die Cut) และวี เลเซอร์ (V Laser) ตัดเป็นภาพลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของอาคารในแถบเจริญกรุงในยุคต่างๆ วางซ้อนเหลื่อมกันพร้อมจัดแสงส่องกระจกเกิดเป็นงานศิลปะที่น่าสนใจ เมื่อเราเพ่งดูกระจกอย่างจริงจัง บางเสี้ยววินาทีเราอาจรู้สึกว่าสามารถมองย้อนทะลุมิติของเวลา ผ่านประตูกาลเวลาสู่ความรุ่งเรืองในอดีตของย่านถนนเจริญกรุง นับว่าเป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่ซ่อนความลึกลับเอาไว้ในบานกระจก

จากท้ายซอยเจริญกรุง 36 บริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศส มีถนนเชื่อมกับซอยเจริญกรุง 38 เราสามารถแวะเข้าไปชมงานแสดงศิลปะ “112 Red & Yellow Tubes” ของศิลปินชาวต่างชาติ เลียม มอร์แกน (ซึ่งจะแสดงถึงวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้) ที่ใช้แผงหลอดไฟสีเหลืองและสีแดง หมุนวนไป บางจังหวะสีแดงก็โดดเด่น บางจังหวะสีเหลืองก็เด่นชัด และในบางจังหวะทั้งสองสีกลับสอดประสานเป็นสีใหม่ขึ้นมา งานศิลปะชิ้นนี้ทำขึ้นครั้งแรกสำหรับการจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้แรงบันดาลใจจากงานวัดที่ประเทศไทย

โรงแรมปริ้นซ์ในถนนศรีเวียง (ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าโรบินสัน) คือเป้าหมายสุดท้ายของคืนนี้

ปริ๊นซ์รามาเป็นตัวอย่างของการพลิกผัน เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ไม่ยอมจำนนจมปลักกับอดีต จากโรงภาพยนตร์เก่า ๆ ที่ไม่มีอนาคตกับการฉายหนังโป๊ หนังเอวีญี่ปุ่นวนสลับกับหนังเอ็กซ์ฝรั่ง มาเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ ปรับโฉมเป็นโรงแรมบูติกโฮเทล Prince Theatre Heritage Stay Bangkok มีห้องพักจำนวน 26 ห้อง ทำโถงด้านล่างที่เคยเป็นที่ขายตั๋วให้เป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ ผสมผสานกันระหว่างบาร์เครื่องดื่ม ล็อบบี้ และพื้นที่สำหรับแสดงงานศิลปะ โดยที่ยังมีกลิ่นอายของโรงหนัง ด้านข้างมีเวทีเล็กสำหรับจัดงาน บางคืนก็ฉายหนังขาวดำกับกำแพง ย้อนยุคไปในช่วงที่ปริ๊นซ์รามาเปิดบริการครั้งแรกในช่วงรัชกาลที่ 5

Awakening Bangkok
“California Dream” โดย Splendour Solis Collective จัดแสดงที่ทางเข้าโรงแรมปริ๊นซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์ (Prince Theatre Heritage Stay) ภาพ/พูวดล ดวงมี

ถ้าคุณเดินเข้าไปในโรงแรม Prince Theatre Heritage Stay Bangkok ในช่วงนี้ จะได้สัมผัสงานแสดงแสงสี 5 ชุด จัดแสดงโดยศิลปินชาวไทย ด้านนอกบริเวณปากทางเข้าโรงแรมจะเป็นงานชุด “California Dream” ที่ศิลปินนำกระจกเงาทรงกลมขนาดใหญ่ ตั้งประจันหน้ากันเห็นเงาส่องสะท้อนกันไปมาไม่รู้จบ เหมือนความฝันและความจริงที่สลับกันไปจนคนเริ่มไม่แน่ใจว่าอะไรคือจริงอะไรคือฝัน

ในตรอกเล็ก ๆ ข้างประตูทางเข้าโรงแรมมีศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งสร้างงานแสงสี “The Spectrum” จากม่านไฟเบอร์นำแสงเส้นเล็ก ๆ เป็นงานที่จำลองการฉายหนังสมัยก่อนที่ใช้แสงส่องผ่านแผ่นฟิลม์ จุดนี้สนุกเพราะเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ สามารถใช้โทรศัพท์ซุกเข้าในม่านเส้นไฟเบอร์นำแสงเพื่อถ่ายเส้นแสงสีแดง เขียว ฟ้าและขาว ภาพที่ได้จะทำให้เรารู้สึกประหลาดใจกับการเดินทางของแสง

 

Awakening Bangkok
“The Spectrum” โดย Vawa Studio จัดแสดงที่โรงแรมปริ๊นซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์ (Prince Theatre Heritage Stay) ภาพ/พูวดล ดวงมี

ด้านในโรงภาพยนตร์มีงานอีก 3 ชิ้น คือ “The Crown Pavilion” ที่นำเอามงกุฎที่เป็นสัญลักษณ์เดิมของโรงหนังปริ้นซ์รามาเป็นดั่งผืนผ้าใบของ “พิกเซลอาร์ต” (pixel art) ใบหน้าของดาราหนังระดับซุปเปอร์สตาร์ และตัวละครดังในหนังที่โด่งดังในหลากหลายยุค เช่น ใบหน้าของบรูซ ลี ดาราจีนที่โด่งดังในฮอลลีวู้ด มิตร ชัยบัญชา ในบทโรม ฤทธิไกรจากภาพยนตร์เรื่องอินทรีแดง หรือฮันนิบาล เล็คเตอร์ จากเรื่อง  The Silence of the Lambs นอกจากนี้ยังมี “Anywhere” งานศิลปะการจัดวางไฟรอบ ๆ เครื่องฉายหนังเก่า เพื่อแสดงศิลปะของเส้นแสง นำทางไปสู่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในความมืด

งานที่ดึงดูดความสนใจจากคนดูในโรงแรมคืองานชุด “Rhythm of Reflection” ที่แสดงจังหวะ ลีลาของการกระจายและสะท้อนแสง ทำให้เกิดสีสันประหลาด ในรูปทรงที่ประหลาดกว่า เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมที่หลากหลายในย่านถนนเจริญกรุง ศิลปินกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า Spark Industries พวกเขายิงแสงเลเซอร์จากกล่อง เข้าไปกลุ่มเครื่องแก้วโปร่งใส ที่ขอมาจากบ้านคนที่อาศัยอยู่ในย่านเจริญกรุง ด้วยความที่ถ้วยโถโอชามยืมมาจากหลายบ้าน บ้างก็ได้มากจากบ้านจีน บ้านแขกมุสลิมก็มี แจกันงานของฝรั่งก็ได้มา สีที่ได้จากการเดินทางของแสงผ่านผลึกแก้ว มุมหักเหของแสงทำให้เกิดแสงสีเป็นจุด ๆ กระจายฟุ้งออกมาเป็นสีสันสวยงามอยู่บนกำแพง เคลื่อนไหวและเปลี่ยนรูปทรงไปตามจังหวะของแสงเลเซอร์ สวยเหมือนภาพถ่ายทางช้างเผือก

Awakening Bangkok
“Rhythm of Reflection” โดย Spark Industries จัดแสดงในโรงแรมปริ๊นซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์ (Prince Theatre Heritage Stay) ภาพ/ชูศรี งามประเสริฐ

“แสงเลเซอร์ที่ยิงออกไปคือมุมมองของผมผ่านไปในจานชามที่ชาวบ้านแถวนี้ใช้กันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทำมุมหักเหกับพื้นผิวที่แตกต่างกัน เกิดเป็นภาพแสงสีฟุ้งกระจายออกไป” ศิลปินหนุ่ม ตัวแทนกลุ่มค่อย ๆ อธิบายอย่างช้า ๆ ให้เห็นความซับซ้อนของงาน ที่ฉายแสงสีเล่าเรื่องราวของมิติความสัมพันธ์ของย่านถนนเจริญกรุง ย่านที่ทันสมัยแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร


วางแผนการเดิน

Awakening Bangkok งานศิลปะการจัดวางแสงสี (light art installation) รวม 29 ชิ้นงาน จัดแสดงอยู่บนถนนเจริญกรุงช่วงระหว่างอาคารไปรษณีย์กลาง (ซอย 32) กับแยกถนนศรีเวียง (ตรงข้ามห้างฯ โรบินสัน) โดยมีงานศิลปะกระจายอยู่ในซอยเจริญกรุง 32 ซอยเจริญกรุง 36 บริเวณ O.P. Garden ชุมชนมัสยิดฮารูณ โรงแรมสวอน และซอยเจริญกรุง 38 บริเวณ O.P. Place และโรงแรมปริ้นซ์ในถนนศรีเวียง เราสามารถเริ่มเดินดูจากด้านไหนก่อนก็ได้ งานจะเริ่มประมาณ 18.30 น. ถึง 23.00 น.