ภายในห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี ชุดน้ำชากระเบื้องเคลือบชุดเล็ก ชุดใหญ่สวยละลานตาส่องแสงเป็นประกายรับแสงไฟจากโคมระย้า ลวดลายดอกไม้นานาพันธุ์ทั้งกล้วยไม้ กุหลาบ ดอกไม้ป่า ไฮเดรนเยีย ที่ปรากฏอยู่บนเครื่องกระเบื้องเหล่านั้นละเอียดอ่อนหวานจนแทบลืมหายใจ สองสาวที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานแทบไม่เชื่อสายตาว่างานกระเบื้องเคลือบสวย ๆ ที่แสดงอยู่เต็มห้องบอลลูนเป็นงานอดิเรกที่ทำในยามว่าง

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสมาชิก ชมรมนักวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบแห่งประเทศไทย (Thailand Porcelain Painting Club) จัดงานเลื้ยงน้ำชายามบ่าย “Tea & Coffee Table Fantasy” ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ สมาชิกได้นำงานของตัวเองที่ทำขึ้นมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน เพื่อนำรายได้จากการจัดงานหลังหักค่าใช้จ่าย บริจาคสมทบทุนสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระเบื้องเคลือบ
ดอกไฮเดรนเยียบนกระเบื้องเคลือบ ฝีมือวาดของคุณภรณี นาทีกาญจนลาภ ด้วยเทคนิคแบบอเมริกัน (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

หากการสะสมชุดถ้วยชามโบราณและเครื่องปั้นดินเผาคืองานอดิเรกของชายผู้มีฐานะ การวาดภาพและลงสีบนเครื่องกระเบื้องเคลือบคือกิจกรรมยามว่างของฝ่ายหญิงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะ

ผลงาน “Viola Tricolor” ของคุณเดือนฉาย คอมันตร์ สไตล์ร่วมสมัย โดยใช้เทคนิคการวาดและลงสีแบบอเมริกัน (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

การวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบ China Painting หรือ Porcelain Painting เกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 หรือ 8 ในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการทำเครื่องดินเผาและเครื่องกระเบื้องของโลก การวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบของจีนได้แพร่หลายเข้าไปในแถบเอเชียตะวันออกอย่างประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเครื่องกระเบื้องเขียนลายของจีนที่ทำขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเครื่องกระเบื้องที่พบในดินแดนแถบตะวันออกกลางมักวาดลวดลายประดับแบบอิสลาม

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ประเทศโปรตุเกสได้ติดต่อค้าขายกับจีนและนำเครื่องเคลือบลายครามจากจีนไปขายในยุโรป ในปี 1604 เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา หรือ ดัทช์) ยึดเรือของโปรตุเกสได้พร้อมเครื่องเคลือบจากจีนกว่า 100,000 ชิ้น เครื่องกระเบื้องเคลือบเหล่านี้ถูกนำไปประมูลในเมืองอัมสเตอร์ดัมและมีผู้คนจากทั่วยุโรปเข้าไปประมูล ในช่วงปี 1604 ถึง 1657 เนเธอร์แลนด์ได้ติดต่อค้าขายกับจีนและนำเครื่องกระเบื้องเคลือบจากจีนเข้าสู่ยุโรปกว่า 3,000,000 ชิ้น ในปี 1698 เรือจากฝรั่งเศสมาถึงมณฑลกวางตุ้งของจีน ในขณะที่เรือของอังกฤษมาถึงในปี 1699 ตั้งแต่นั้นมาเครื่องกระเบื้องเคลือบจากจีนจำนวนมหาศาลกลายเป็นสินค้าส่งออกไปสู่ยุโรป โดยส่วนใหญ่ผ่านทางเรือของอังกฤษ

เมืองจิงเต๋อเจิ้น เมืองเครื่องปั้นของจีนจำเป็นต้องขยายการผลิตเครื่องเคลือบเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดยุโรป เตาเผากระเบื้องลุกโชนตลอดเวลาจนมีการบันทึกว่า “ในยามค่ำคืนผู้คนอาจคิดว่าเมืองทั้งเมืองกำลังลุกเป็นไฟ” ในช่วงนี้พ่อค้าชาวยุโรปเริ่มนำแบบมาให้ช่างปั้นชาวจีนผลิตเครื่องถ้วยชามตามแบบตะวันตก บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้ส่งภาพวาด ช่างแกะสลัก สีลงยาและศิลปินนักวาดลวดลายเข้าไปในพระราชวังของจีนทำให้ศิลปะของยุโรปเริ่มปรากฏในเครื่องกระเบื้องเคลือบของจีน การลงสีที่หลากหลายตามแบบเยอรมันทำให้เกิดเทคนิคการลงสี famille rose ซึ่งเป็นการใช้สีชมพูและสีม่วงในกระเบื้องเคลือบของจีน

ความสวยงามและความอ่อนหวานของดอกกุหลาบเป็นที่นิยมของนักวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบ (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ความพยายามผลิตเครื่องกระเบื้องเคลือบในยุโรปเกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองฟลอเรนส์ ประเทศอิตาลีในปลายคริสต์ศตวรรษที่  16 โดยไม่ใช้ดินเหนียวของจีน แต่ผลิตได้จำนวนน้อย  ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฝรั่งเศสพยายามผลิตเครื่องกระเบื้องเคลือบ แต่ความพยายามเหล่านี้ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 การดื่มชาเป็นแฟชั่นที่นิยมไปทั่วยุโรปทำให้ความต้องการเครื่องกระเบื้องเคลือบแบบตะวันออกสูงขึ้นไปด้วย ช่วงนี้เองที่โรงงาน The Meissen Porcelain ของเยอรมนีสามารถผลิตเครื่องกระเบื้องเคลือบได้เป็นแห่งแรกในยุโรป ต่อมาเมื่อความลับในกระบวนการผลิตเครื่องกระเบื้องเคลือบเริ่มรั่วไหล ก็มีโรงงานเครื่องกระเบื้องเกิดขึ้นอีกหลายแห่งในเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และประเทศในแถบยุโรป

ผลงานชุดถ้วยชาของคุณหญิงสุภรณ์ วิจิตรานุช วาดรูปดอกม่วงเทพรัตน์ลงบนกระเบื้องเคลือบ (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ในช่วงแรก ๆ วาดภาพบนกระเบื้องเคลือบเป็นสิ่งที่ผู้ชายถือครองด้วยว่าเป็นงานศิลปะ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ช่วงประมาณปี 1870 การวาดภาพกระเบื้องเคลือบได้กลายเป็นงานอดิเรกของสตรีผู้มีฐานะในอังกฤษ มีการจัดตั้งสตูดิโอวาดภาพบนเครื่องปั้นในเคนซิงตัน รวมไปถึงการจัดนิทรรศการภาพวาดบนเครื่องกระเบื้องโดยผลงานที่ได้เข้าร่วมแสดงล้วนได้รับการคัดเลือกจาก Royal Academy of Arts ความนิยมการวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบแผ่ขยายไปถึงอเมริกา ในครัวเรือนการวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของสตรีสาว ๆ ในช่วงเวลาที่พี่ชายและบิดาออกไปทำงาน

ประเทศไทยนำเข้าเครื่องกระเบื้องเคลือบเขียนสีจากจีนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย โดยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้มีการสั่งทำเครื่องเบญจรงค์จากประเทศจีน ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เริ่มมีการเขียนลายน้ำทองลงในเครื่องเบญจรงค์ ประเทศไทยสั่งผลิตเครื่องเบญจรงค์จากจีนมาตลอดจนถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการสร้างเตาเผาสีบนเครื่องกระเบื้องเคลือบขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการผลิตเครื่องเบญจรงค์ในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

กมลา ยุคล ณ อยุธยา
ผลงาน “Sweet Tea Set” ของหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ใช้เทคนิคการวาดภาพและลงสีแบบยุโรป (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

การวาดภาพบนกระเบื้องในประเทศไทยนั้นมีรูปแบบเทคนิคต่าง ๆ โดยในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน ได้นำวิธีการวาดภาพแบบ Meissen และ Dresden ของเยอรมนีเข้ามาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อน ต่อมา อ.พิยะดา สุวรรณรัตน์ ได้นำเทคนิค Flora Danica, Meissen, Dresden, American Style และ French Style จากยุโรปเข้ามาสอนและอาจารย์ยิ่งวรรณ วงศ์รัตน์ ได้นำ Soft Technique จาก Australia เข้ามาสอน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์จากประเทศต่าง ๆ เข้ามาให้ความรู้และเทคนิคในการวาดภาพบนกระเบื้องที่หลากหลาย

ชมรมนักวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบแห่งประเทศไทย ก่อตั้งในปี 2545 ถือเป็นการรวมกลุ่มของผู้รักการวาดภาพบนกระเบื้อง เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและทักษะในการวาดภาพบนกระเบื้องระหว่างสมาชิกและสตูดิโอต่าง ๆ ภายในประเทศ และเพิ่มพูนประสบการณ์ใหม่ ๆ ตลอดจนขยายวงการวาดภาพบนกระเบื้องในประเทศไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ชมรมนักวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบแห่งประเทศไทย มีการจัดอบรมเทคนิคการวาดภาพบนกระเบื้องโดยเชิญอาจารย์ทั้งจากในประเทศและอาจารย์จากต่างประเทศมาสอนสมาชิกและผู้สนใจ

วาดกระเบื้องเคลือบ
ชุดน้ำชาสีหวาน ผลงานวาดกระเบื้องเคลือบของคุณอัญชลี คล่องใช้ยา (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

สายตาของเพื่อนสาวและเรามาบรรจบกันที่ชุดน้ำชาสีขาวมีลายดอกไม้เล็ก ๆ สีสวยหวาน เราสองคนยืนจ้องอยู่นานพอได้เห็นเจ้าของผลงานเลยขอความรู้เกี่ยวกับการวาดลวดลายลงบนกระเบื้อง เจ้าของผลงานชุดน้ำชาสีหวานนี้คือ คุณอัญชลี คล่องใช้ยา สมาชิกชมรมนักวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบแห่งประเทศไทย

“สำหรับนักเพ้นท์แล้วก็ชอบดอกไม้ทุกประเภท แต่ถ้าเป็นดอกกุหลาบโดยมากจะเป็นคนที่ถนัดสไตล์อเมริกัน ส่วนสไตล์ยูโรเปี้ยนจะชอบวาดดอกไม้เล็ก ๆ น่ารัก ๆ ซึ่งจริง ๆ ดอกไม้ไทยก็สามารถนำมาวาดได้  เครื่องน้ำชาหนึ่งเซ็ทที่นำมาแสดงชุดนี้มี 19 ชิ้น ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการวาด” คุณอัญชลี คล่องใช้ยา เล่าด้วยน้ำเสียงนุ่ม ๆ ทำเอาสองสาวถึงกับขนลุกเพราะฝีมืองานศิลปะระดับติดลบอย่างเราสองคน การบรรจงวาดภาพเพ้นท์สีลงไปบนกระเบื้องแบบนี้น่าจะใช้เวลาเป็นปี มากกว่าหนึ่งเดือนอย่างที่คุณอัญชลีว่าไว้

“การวาดแบบยูโรเปี้ยนจะเป็นการวาดดอกไม้เล็ก ๆ ดูเรียบร้อยสะอาดตา แล้วตรงขอบ ๆ ก็จะมีลงลายทอง จริง ๆ แล้วตัวเองก็วาดได้ทั้งสไตล์อเมริกันและยูโรเปี้ยน แต่พอดีงานนี้เป็นงานน้ำชา เราก็เลยคิดว่าการวาดแบบยูโรเปี้ยนน่าจะเข้ากับอิงลิช ที เทเบิ้ล (English Tea Table) ได้ดี”

– อัญชลี คล่องใช้ยา สมาชิกชมรมนักวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบแห่งประเทศไทย

คุณอัญชลีเล่าว่าขั้นแรกต้องดูว่าภาชนะที่จะใช้วาดนั้นเป็นภาชนะอะไร เป็นกาน้ำชา ช้อน ถ้วย  ช้อน ถาด หรือทั้งหมด พอเลือกภาชนะได้จึงจะมาเลือกลายให้เหมาะกับภาชนะนั้น ๆ แล้วก็ต้องวางแผนว่าบนภาชนะนั้นจะวาดกี่ที่

“พอดีงานนี้เรามีภาชนะที่เป็นทรงแบบยูโรเปี้ยนอยู่แล้ว เราก็เลยคิดลายที่เป็นแบบยูโรเปี้ยน  เพราะต้องผสานระหว่างรูปร่างของสิ่งที่เราจะเพ้นท์กับลวดลายที่เราจะเลือก ตอนช่วงที่เพ้นท์ควรจะเป็นช่วงเวลาที่มีอารมณ์อยากวาดจะได้ผลงานที่ดี แต่คราวนี้เร่งนิดหน่อยเพราะเวลาจำกัดและเมื่อวาดแล้วยังต้องเอามาเผาอีก 3 ไฟ  ไฟแรก 780 องศา เพราะต้องการให้สีสดเด่นขึ้นมา ไฟที่สองลดลงเป็น 770 องศา พอทำทองขั้นสุดท้ายก็ลดไฟเหลือ 750 องศา เพราะทองต้องใช้ไฟต่ำจะได้ติดกับภาชนะได้ดีและสีทองจะได้ออกมาสวย”

เสียงถ้วยชากระทบกับจานรองจากโต๊ะน้ำชาที่ตั้งห้อมล้อมผลงานที่นำมาจัดแสดง แสงไฟจากโคมระย้าส่องลงมาที่เครื่องกระเบื้องเคลือบหลายขนาด หลากรูปทรง แต่ละชิ้นสวยเด่นด้วยลวดลายและสีสันงดงามจากปลายพุ่กันของสมาชิกชมรมนักวาดภาพบนกระเบื้องเคลือบแห่งประเทศไทย เส้นสายลายพู่กันบนเครื่องกระเบื้องเคลือบเนื้อดีสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของการถ่ายทอดทักษะและเทคนิคด้านศิลปะที่กาลเวลาและหนทางอันยาวไกลไม่อาจขวางกั้น