มารีนา อบราโมวิช ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวเซอร์เบีย ขึ้นเวทีอ่าน “แถลงการณ์ของศิลปิน” และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจซักถามเกี่ยวกับงานแสดงศิลปะของเธอ ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์ เธียเตอร์ สยามพารากอน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2561
แถลงการณ์ข้อหนึ่งของมารีนาคือ “ศิลปินไม่ควรหลงรักศิลปินด้วยกัน” คำแถลงการณ์นี้ทำเอาผู้ชมส่งเสียงหัวเราะด้วยความขบขันเพราะคิดว่าเธอพูดในเชิงล้อเลียน
หลังจากอ่านคำแถลงการณ์จบลง ศิลปินหญิงชาวเซอร์เบียเปิดโอกาสให้คนฟังลุกขึ้นถามคำถาม มารีนานั่งตอบทุกคำถาม
“ศิลปินไม่ควรหลงรักศิลปินด้วยกัน” เธอหมายความตามนั้นจริง ๆ เพราะศิลปินที่รักศิลปินด้วยกันแสดงว่าทั้งสองคนสนใจในสิ่งเดียวกัน แรก ๆ ทั้งสองจะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันเพราะเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายได้ดี แต่สุดท้ายก็จะเลิกรากันเพราะตัวตนของศิลปินจะแข่งกันเอง
นอกจากนี้มารีนา อบราโมวิชยังช่วยอธิบายว่าสำหรับเธอศิลปะที่ดีคือศิลปะที่ทำให้เราต้องหันกลับไปมอง เพราะพลังของงานศิลปะนั้นจะเรียกให้ผู้คนหันมามอง ส่วนที่เธอกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ศิลปินต้องเจ็บปวด” และ “ศิลปินต้องไม่หดหู่ซึมเศร้า” นั้นเธอชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง “ความหดหู่” และ “ความเจ็บปวด” ว่าสองสิ่งนี้คือสิ่งที่แตกต่างกันมาก เพราะสำหรับเธอ ความหดหู่ซึมเศร้า เป็นอาการป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ความเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งที่จะบ่มเพาะให้ศิลปินสร้างผลงานที่ดีออกมาได้
มารีนา อบราโมวิชเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก งานแสดงศิลปะของมารีนามักได้รับการกล่าวถึงเสมอ ๆ ครั้งหนึ่งมารีนาต้องการสัมผัสการตอบสนองทุกรูปแบบจากคนที่กำลังชมงานศิลปะของเธอ เพื่อค้นหาขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจคน มารีนาบอกผู้ชมของเธอว่าพวกเขาทำอะไรร่างกายเธอก็ได้โดยใช้อุปกรณ์ 72 ชิ้น ที่จัดไว้ให้ เช่น ขนนก ปากกา มีด กรรไกร เลื่อย น้ำผึ้ง เกลือ กุหลาบ ปืน ฯลฯ เธออธิบายการมีส่วนร่วมไว้ว่า “ฉันเป็นวัตถุ และมีความรับผิดชอบเต็มตลอดการแสดงนี้” การท้าทายจิตใจคนจากการแสดงครั้งนั้นทำให้เธอถูกกรีดด้วยมีดโกนและถูกทำร้ายในระหว่างการแสดงศิลปะ เธอกล่าวว่าเมื่อการแสดงครั้งนั้นจบลงเธอจึงได้ตระหนักว่าสิ่งที่เธอทำนั้นอันตรายมากแค่ไหน
มารีนา อบราโมวิชเดินทางมากรุงเทพฯ ช่วงระหว่างปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อร่วมงาน “The Abramovic Method หรือ วิถีมารีนา” ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
The Abramovic Method หรือ วิถีมารีนา เป็นกิจกรรมเปิดให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงศิลปะเพื่อเชื่อมโยงกับตัวตนที่แท้ของตัวเองรวมถึงเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ในพื้นที่การแสดงศิลปะอันเงียบเชียบไร้เสียงรบกวนแห่งนี้จะปราศจากการหยามเหยียดและการแบ่งแยกชนชั้นอย่างสิ้นเชิง ผู้เข้าร่วมชมจะได้เข้าร่วมกิจกรรมด้านศิลปะและสังเกตผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่น ๆ
วิธีการแบบอบราโมวิช เน้นการผู้ให้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้ามาอยู่ด้วยกัน และได้ผสานรวมกันอีกครั้งผ่านการปฏิสัมพันธ์ขั้นพื้นฐาน สร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้พบและกระตุ้นเตือนความรู้สึกไม่มั่นคงของหมู่คณะซึ่งเป็นจิตสำนึกที่มนุษย์จำเป็นต้องมีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขยิ่งขึ้น
The Abramovic Method วิถีมารีนา จัดแสดงจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 (ยกเว้นทุกวันจันทร์) ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เกี่ยวกับมารีนา อบราโมวิช
มารีนา อบราโมวิช (1964, เบลเกรด ยูโกสวาเวีย หรือเซอร์เบียในปัจจุบัน) เติบโตมาในยุคเผด็จการคอมมิวนิสต์ภายใต้การเลี้ยงดูของครอบครัวที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 ศิลปะแนวนามธรรมเริ่มไม่เป็นที่นิยม ศิลปินทั่วโลกเริ่มหันมาทำงานในลักษณะสื่อการแสดงสด (performance art) หรือ เพอร์ฟอร์แมนซ์ การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ของอบราโมวิชมักจะดูอันตรายและปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมอย่างเข้มข้น อบราโมวิชสนใจเรื่องความเปราะบางระหว่างชีวิตและความตาย เธอเชื่อว่าการได้เผชิญกับความเจ็บปวดและอ่อนล้าทางกายจะทำให้เราตระหนักถึงการมีตัวตนอยู่จริง เธอทำให้เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต เป็นช่องทางในการเปลี่ยนสถานะระหว่างผู้ชมและศิลปิน เธอต้องการให้ผู้ชมเป็นผู้แสดงร่วมมากกว่าการแค่นั่งชม
ผลงานที่ทำให้อบราโมวิชเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุดชิ้นหนึ่ง คือ The Artist is Present ปี 2010 จัดแสดงที่ MoMa ในนิวยอร์ค โดยศิลปินนั่งอยู่วันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน ผู้เข้าชมจะต่อคิวรอเพื่อมานั่งตรงหน้าอบราโมวิชเพียงไม่กี่นาที ผู้ชมจะมานั่งจ้องมองศิลปินที่อยู่ตรงหน้า ในไม่กี่นาทีนั้นผู้ชมจะเผชิญหน้ากับความคิดและความรู้สึกภายในของตัวเอง อบราโมวิชกล่าวเกี่ยวกับผลงานชุดนี้ว่า “มนุษย์ต้องการการติดต่อสื่อสารอย่างมหาศาล เราแปลกแยกจากกัน สังคมทำให้เรามีระยะห่าง เราส่งข้อความหากันโดยไม่ต้องพบกัน และเราอาศัยอยู่ห่างกันเพียงแค่หัวมุมถนน มีเรื่องราวของความโดดเดี่ยวมากมาย“
สามารถติดตามข่าวสาร และตารางการจัดกิจกรรมของงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018” (Bangkok Art Biennale) เพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/Bkkartbiennale หรือ www.bkkartbiennale.com
สอบถามเพิ่มเติมฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่เบอร์โทรศัพท์ (02) 214 6630-8 ต่อ 501-503
Bangkok Art Biennale 2018
+ การแสดงต่อเนื่องจาก MAI ครั้งแรกในเมืองไทย […]