ดอกทิวลิปเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์  แต่เจ้าพืชหัวที่มีดอกสวยงามนี้ไม่ได้ถือกำเนิดในเนเธอร์แลนด์ ทิวลิปเป็นนักเดินทางตัวยงที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของหลายชนชาติ และหลากความเชื่อ หัวทิวลิปที่นอนหลับใหลอยู่ใต้ดินได้รู้เห็นเรื่องราวมากมายของมนุษยชาติที่หลงรักสีสันสวยงามและรูปทรงแปลกตาของมัน

ทิวลิปเป็นไม้ดอกที่มีสายพันธุ์มากมายจนบางคนเชื่อว่าไม่อาจหาพืชใดมีสายพันธุ์หลากหลายเท่าทิวลิปอีกแล้ว  นักพฤกษศาสตร์แยกสายพันธุ์ของทิวลิปได้มากกว่า 110 สปีชีส์ บันทึกแรกเกี่ยวกับดอกทิวลิปปรากฏในศตวรรษที่ 9 ในแถบเปอร์เซีย (ปัจจุบันคืออิหร่าน) กวีนามฮาฟิซขับลำนำบทเพลงเกี่ยวกับเสน่ห์แสนบริสุทธิ์ของทิวลิปที่แม้นกระทั่งกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้ยังไม่อาจเทียบได้ ชื่อของดอกทิวลิปมาจากรากศัพท์ภาษาเปอร์เซียน เทอร์บัน (dulband) ซึ่งหมายถึง ผ้าโพกศีรษะที่มีรูปทรงคล้ายดอกทิวลิปบาน

ตำนานของเปอร์เซียกล่าวถึงกำเนิดของดอกทิวลิปเอาไว้หลายฉบับแต่เรื่องที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ฟาร์ฮัดกับชิริน ฟาร์ฮัดหลงรักสาวงามนามชิริน (บางตำนานเล่าว่าฟาร์ฮัดเป็นสุลต่านชิรินเป็นสาวชาวบ้าน แต่บางตำนานก็ว่าฟาร์ฮัดเป็นช่างแกะสลักที่ยากจนในขณะที่ชิรินเป็นเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์) ศัตรูหัวใจของฟาร์ฮัดสร้างข่าวลวงว่าชิรินเสียชีวิตแล้วเพื่อให้ฟาร์ฮัดตัดใจจากชิริน ความโศกเศร้าทำให้ฟาร์ฮัดฆ่าตัวตายเพื่อหวังตายตกตามชิรินไป (บางตำนานเล่าว่าฟาร์ฮัดกระโดดลงมาจากภูเขาสูง บางตำนานก็ว่าแทงตัวเองด้วยสิ่วที่ใช้แกะสลักหิน) หยดเลือดของฟาร์ฮัดที่สาดกระเซ็นลงบนพื้นมีดอกทิวลิปสีแดงก่ำงอกขึ้นมา เรื่องเล่านี้ได้รับการถ่ายทอดไปทั่วดินแดนและปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าและนิทานของหลายประเทศสืบมา ดอกทิวลิปสีแดงจึงเป็นตัวแทนแห่งความรักที่มั่นคง เสียสละ และเป็นดอกไม้ที่ชายหนุ่มเปอร์เซียนำไปมอบให้หญิงสาวขณะขอแต่งงาน

นานนับศตวรรษที่ทิวลิปเป็นไม้ดอกที่ปลูกอยู่ทั่วไปในจักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี) ในหน้าประวัติศาสตร์ของตุรกีมีช่วงหนึ่งที่เรียกว่า ยุคทิวลิป (Tulip Period หรือ Tulip Era) ซึ่งอยู่ในช่วงปี 1718 – 1730 ภายใต้การปกครองของสุลต่านอาห์เมตที่ 3 ชื่อ “ยุคทิวลิป” นี้เรียกขานตามความคลั่งไคล้ทิวลิปในแวดวงของสังคมผู้สูงศักดิ์ในวังหลวงที่การเพาะปลูกดอกทิวลิปเป็นแฟชั่น ทิวลิปเป็นตัวแทนของความสูงศักดิ์และสิทธิพิเศษ ชนชั้นสูงและเศรษฐีจะพยายามเฟ้นหาทิวลิปที่มีสี กลิ่นหรือรูปทรงที่แตกต่างโดดเด่นและหายากมาไว้ในครอบครอง

ดอกทิวลิปนักเดินทางข้ามศตวรรษ
ทิวลิปมีสีสันและรูปทรงหลากหลายทำให้ผู้คนหลงใหล (Photo/Pixabay from Pexels)

สุลต่านอาห์เมตที่ 3 โปรดดอกทิวลิปมาก ในอุทยานของพระองค์มีทิวลิปมากมายหลายสีหลากรูปทรงนับพันต้น ในยามเย็นพระองค์โปรดให้จุดเทียนบนจานรองแล้ววางบนกระดองเต่าหลาย ๆ ตัวก่อนปล่อยให้เต่าเดินไปในอุทยานเพื่อส่องให้เห็นความงามของดอกทิวลิปในยามค่ำคืน

ทูตโรมันประจำตุรกีได้นำหัวและเมล็ดทิวลิปเข้ายุโรปในช่วงศตวรรษที่ 16 โดยนำเข้ามาที่เวียนนาก่อนที่จะกระจายไปยังเมืองเอาก์สบูร์กประเทศเยอรมันนี เมืองแอนต์เวิร์ปในเบลเยี่ยม และเมืองอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ บันทึกแรกเรื่องการเพาะปลูกดอกทิวลิปในยุโรปคือบันทึกของคอนราด เกสเนอร์ (Conrad Gessner) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวิส ซึ่งได้เห็นดอกทิวลิปบานในปี 1559 ที่สวนของสมาชิกสภา โยฮาน ไฮน์ริช แฮร์วาร์ท (Johann Heinrich Herwart) ในเมืองเอาก์สบูร์ก แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมันนี

ทิวลิปเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในเนเธอร์แลนด์เมื่อนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชาร์ส เดอ เลคลูส (Charles de L’Écluse) หรือที่รู้จักกันในชื่อละตินว่า คาโรรุส คุลซิอุส (Carolus Clusius) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับดอกทิวลิปในปี 1592 ความนิยมดอกทิวลิปทำให้มีคนแอบเข้ามาขโมยหัวทิวลิปจากในสวนของเขาเป็นประจำ รูปร่างที่แปลกตา สีสันสดใสและการปลูกที่ต้องรอคอยยาวนานเป็นปีเพื่อให้ต้นทิวลิปงอกขึ้นมาใหม่ ความงามของดอกทิวลิปที่เบ่งบานสดใสเพียงหนึ่งอาทิตย์แล้วก็โรยรา คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้ทิวลิปเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ทิวลิปเป็นที่นิยมมากในเนเธอแลนด์และประเทศใกล้เคียงจนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกของโลก เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า “ความคลั่งไคล้ทิวลิป” ( Tulip Mania)  หรือ “วิกฤตฟองสบู่ทิวลิป” (The Dutch Tulip Mania Bubble) ชาวดัตช์ซื้อหัวทิวลิปอย่างบ้าคลั่ง หัวทิวลิปมีราคาสูงมากจนแทบจะกลายเป็นสกุลเงิน ผู้คนนำหมู วัว ทองคำ เรือ และของมีค่าอื่น ๆ ไปแลกกับหัวทิวลิป ยิ่งเป็นหัวทิวลิปพันธุ์หายากยิ่งมีราคาสูงลิบ บ้านหลังงามหนึ่งหลังนำมาแลกหัวทิวลิปพันธุ์หายากได้แค่หนึ่งหัวเท่านั้น

ดอกทิวลิปนักเดินทางข้ามศตวรรษ
โฉมหน้าดอกทิวลิปที่ราคาแพงที่สุดในเนเธอร์แลนด์ช่วงศตวรรษที่ 17  ทิวลิปพันธุ์เซมเปอร์ ออกัสตุส (Semper Augustus) หนึ่งหัวมีราคาแพงกว่าบ้านหนึ่งหลัง  (Photo/Wikimedia)

ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนหลังดอกทิวลิปโรยชาวสวนจะขุดหัวทิวลิปขึ้นมา ช่วงนี้จะเป็นเวลาซื้อขายหัวทิวลิปที่เป็นการซื้อมาขายไปที่แท้จริง แต่ระหว่างสิบกว่าเดือนที่หัวทิวลิปพักตัวอยู่ใต้ดินและกำลังงอกต้นใหม่จะซื้อขายเปลี่ยนมือกันไม่ได้ เมื่อความต้องการทิวลิปมีมากขึ้นพ่อค้าได้เริ่มขายสัญญาซื้อขายทิวลิปล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไร คู่ค้าจะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เรียกกันว่า วินด์ฮันเดิล (windhandel) หรือ วินด์เทรด (wind trade) ที่เรียกกันว่าการซื้อขายในสายลมเป็นเพราะเป็นการซื้อขายในอนาคตไม่มีการซื้อขายสินค้าจริงในขณะที่ทำสัญญากัน

การเก็งกำไรหัวดอกทิวลิปของดัตช์ขยายอย่างรวดเร็วจนถึงจุดที่ราคาขึ้นสูงสุด เมื่อไม่มีใครตอบสนองการขายสัญญา ความเชื่อมั่นในตลาดหัวดอกทิวลิปก็เสื่อมถอยลง ราคาหัวทิวลิปจึงร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงกุมภาพันธ์ 1637 ฟองสบู่หัวทิวลิปแตกและวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นส่งผลให้ผู้คนมากมายต้องสิ้นเนื้อประดาตัว

ในอิหร่านดอกทิวลิปกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ธงของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านมีตราสัญลักษณ์ซึ่งเป็นภาพโมโนแกรมรูปดอกทิวลิปที่ใจกลางธงเพื่อระลึกถึงผู้พลีชีพในการปฏิวัตินั้น ภาพโมโนแกรมรูปดอกทิวลิปประกอบจากดาบหนึ่งเล่มและรูปจันทร์เสี้ยวสี่เสี้ยวประกอบกันเมื่ออ่านจะเป็นคำว่า “อัลเลาะห์” นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของเสาหลักทั้งห้าของอิสลาม ซึ่งประกอบด้วย ความศรัทธา การละหมาด การให้ซากัต (ช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้) การถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน และการไปแสวงบุญยังนครเมกกะห์สักครั้งหนึ่งในชีวิตสำหรับผู้ที่สามารถทำได้

สำหรับศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ ทิวลิปถือเป็นสัญลักษณ์ของผู้ยอมสละชีวิตเพื่อศาสนา ในประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรกของนิกายชีอะห์เล่าว่า อิหม่ามฮุสเซนหลานชายของท่านนบีมุฮัมมัดสละชีวิตในการศึกกับราชวงศ์อุมัยยะฮ์ใกล้กับเมืองกัรบะลาอ์ ​(ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก) เนื่องจากไม่ยอมรับและไม่ยอมให้การสัตยาบันกับยะซีด คอลีฟะห์ (ผู้ปกครอง) คนที่สองแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ อิหม่ามฮุสเซนและพรรคพวกต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ด้วยจำนวนคนที่น้อยกว่าจึงพ่ายแพ้และถูกตัดศีรษะในการรบ เล่ากันว่าดอกทิวลิปสีแดงได้งอกออกมาจากผืนดินที่อาบโลหิตของอิหม่ามฮุสเซน

ศตวรรษแล้วศตวรรษเล่าดอกทิวลิปเดินทางจากเทือกเขาสูงแถบเอเชียกลาง ข้ามผ่านเวลา ระยะทาง มาเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ แทรกตัวอยู่ในวัฒนธรรมและความเชื่อที่หลากหลาย ทิวลิปเติบโตได้แม้นในสภาพอากาศที่เลวร้าย ในช่วงที่อากาศหนาวจัดทิวลิปจะพักจำศีลอยู่ใต้ดิน เมื่ออากาศอบอุ่นมันจะแทงลำต้นใหม่ขึ้นมาและออกดอกอันงดงามพร้อมสร้างหัวใหม่ ๆ สำหรับสืบทอดเผ่าพันธุ์ ทิวลิปเปรียบเสมือนวงจรความรุ่งเรืองของมนุษยชาติ แต่ละวัฒนธรรมและความเชื่อล้วนผ่านช่วงยากลำบากแต่มนุษย์ก็ไม่ยอมแพ้และพยายามที่จะเบ่งบานเหมือนดอกทิวลิปที่อดทนสะสมพลังจนได้อวดดอกสวยงามให้โลกได้เห็น ความเข้มแข็งและความงดงามของดอกทิวลิปจับใจผู้คนทุกเชื้อชาติศาสนาให้โอบอุ้มดอกทิวลิปไว้ในอ้อมกอดเพื่อเป็นกำลังใจในการก้าวผ่านความยากลำบากและเฉลิมฉลองความรุ่งเรืองไปด้วยกัน

ชมภาพความงามของดอกทิวลิปในสวน Keukenhof อันโด่งดังของเนเธอร์แลนด์ได้ ที่นี่

ทิวลิปบานที่คอนเซอร์วาทอเรียม

ทิวลิปดอกไม้ที่รักของชาวดัตช์ (Photo/Conservatorium Hotel)

โรงแรมคอนเซอร์วาทอเรียมโรงแรมสไตล์ปราสาทสุดหรูแห่งเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดเทศกาลชมดอกทิวลิปประจำปีร่วมกับเมืองอัมสเตอร์ดัม ด้วยการประดับต้นทิวลิปมากกว่า 1,000 ต้นภายในบริเวณของโรงแรม พร้อมเสนอแพ็คเกจพิเศษ แพ็คเกจ “ทิวลิปส์อินบลูม” (Tulips in Bloom) เพื่อร่วมฉลองเทศกาลชมดอกทิวลิปประจำปีแบบสุดพิเศษที่เมืองอัมสเตอร์ดัม