ปอยส่างลอง – ศรัทธาและสีสันของแม่ฮ่องสอน

งานบวชลูกแก้วของชาวไทยเชื้อสายไตเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาอันสูงส่งและสีสันละลานตา

0
5253
ปอยส่างลอง

ทุก ๆ ปี ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ชาวไต หรือไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะจัดงานปอยส่างลอง เพื่อบรรพชาหมู่สามเณรตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีของชาวไตที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ ในปีนี้มีการจัดงานปอยส่างลองอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดกลางทุ่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 2-6  เมษายน 2561 ที่ผ่านมา มีชาวแม่ฮ่องสอนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปร่วมงานปอยส่างลอง

คำว่า  “ปอยส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่เกิดจากคำ 3 คำ มาสมาสกัน คือ คำว่า “ปอย” แปลว่า “งาน” คำว่า “ส่าง” มาจากคำว่า “เจ้าส่าง” หมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจากคำว่า “อลอง” แปลว่า พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธางกูร ดังนั้นงาน “ปอยส่างลอง” ก็คืองานบวชลูกแก้วนั่นเอง

ปอยส่างลองเป็นงานประเพณีที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายไต ที่แสดงถึงศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาของชุมชนท้องถิ่น เป็นงานที่เปี่ยมด้วยสีสันและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง (แห่ครัวหลู่) นับได้ว่ามีความสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไตอย่างแท้จริง

การจัดงานบวชเณรของชาวไทใหญ่ หรือส่างลองนั้น เป็นพิธีที่ต้องเตรียมงานกันนานใช้เวลาจัดงาน 3-5 วัน  มีการเชิญผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก และมีขั้นตอนโดยแบ่งเป็นวันต่าง ๆ ดังนี้

วันแรก วันรับส่างลอง

ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัดเพื่อแต่งชุดส่างลองด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนากหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน  เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่าง ๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่น ๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการเขียนคิ้ว ทาปากสีแดง  และสวมถุงเท้าสีขาว  ถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว  พระสงฆ์ให้ศีลให้พรและอบรมสั่งสอน

ปอยส่างลอง - ศรัทธาและสีสันของแม่ฮ่องสอน
เด็กชายเชื้อสายไทใหญ่โกนหัวเตรียมตัวบรรพชาเป็นสามเณร ในประเพณีปอยส่างลอง ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ภาพ/จำลอง บุญสอง)
ปอยส่างลอง - ศรัทธาและสีสันของแม่ฮ่องสอน
เด็กผู้ชายเชื้อสายไทใหญ่แต่งหน้าส่างลองด้วยการเขียนคิ้ว ทาปากสีแดง ถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัวเพื่อเตรียมตัวบรรพชาเป็นสามเณร (ภาพ/จำลอง บุญสอง)

หลังจากเสร็จพิธีรับส่างลองแล้ว “ตะแปส่างลอง” หรือผู้ให้ขี่คอ จะเอาส่างลองขี่คอลงมาจากวัดมาฟ้อนรำบริเวณหน้าวัดเป็นการเฉลิมฉลองและต้อนรับส่างลอง บรรดาพ่อแม่ส่างลองและเหล่าญาติจะโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นการอนุโมทนาสาธุ เป็นภาพที่น่าดูและน่าชื่นชมมาก หลังจากฟ้อนรำฉลองการต้อนรับส่างลองจนเป็นที่พอใจแล้ว  คณะส่างลองจะเคลื่อนขบวนไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองหรือศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ในขณะที่แห่ส่างลองไปตะแปส่างลองจะเต้นไปด้วย ส่างลองจะโยกตัวตามเป็นภาพที่สวยงามยิ่ง และที่เด่นอีกอย่างในขบวนแห่ส่างลองคือ “ทีคำ” (ร่มทองคำ) ที่ใช้กางกั้นบังแดดให้ส่างลอง ซึ่งจะมีจำนวนเท่ากับจำนวนส่างลอง  “ทีคำ” จะใช้กางให้เฉพาะส่างลองกับพระพุทธรูปเท่านั้น

จากนั้น “ตะแปส่างลอง” จะนำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี “ทีคำ”หรือร่มทองคำกางบังแดดให้ส่างลอง

ปอยส่างลอง - ศรัทธาและสีสันของแม่ฮ่องสอน
เด็กชายเชื้อสายไทใหญ่แต่งชุดส่างลอง ด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนากหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่าง ๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ (ภาพ/จำลอง บุญสอง)

ในวันแรกนี้ บ้านเจ้าภาพส่างลองทุกบ้านจะมีคนมาช่วยกันเตรียมอาหารไว้บริการส่างลอง ตะแปส่างลองและผู้มาร่วมงานทุกคนตลอดทั้งวัน แม้กระทั่งกลางคืนก็จะมีผู้คนมาเยี่ยมเจ้าภาพ  มาร่วมทำบุญบ้าง ผู้มาร่วมงานจะมีจำนวนมากมาย  เจ้าภาพจะจัดเตรียมน้ำดื่ม ขนมนมเนย  หมากเมี่ยงบุหรี่มาเลี้ยงดูทุกคน และมีกลองมองเซิงมาตั้งไว้ให้บรรเลงกันเป็นที่สนุกสนานเป็นช่วง ๆ ไป พอตกดึกจะมี  “เฮ็ดกวาม”  และบรรเลงกลองมองเซิงสลับกันจนถึงรุ่งเช้า

วันที่สอง วันข่ามแขก

วันข่ามแขกคือวันรับแขก โดยมีญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน  วันนี้นับว่าสำคัญยิ่งเพราะจะมีพิธีต่าง ๆ 3 พิธี คือ  พิธีการแห่โคหลู่ (เครื่องไทยธรรม)  การเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ (กับข้าว 12 อย่าง) และทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง

ปอยส่างลอง
เด็กชายเชื้อสายไทใหญ่แต่งชุดส่างลอง เตรียมบรรพชาเป็นสามเณร (ภาพ/จำลอง บุญสอง)
ปอยส่างลอง
ในวันข่ามแขกญาติที่มาร่วมงานจะผูกข้อมืออวยพรให้อลอง ชื่นชมบารมีของอลอง ช่วยงาน และร่วมงานสนุกสนานต่าง ๆ เป็นการเฉลิมฉลองอลอง (ภาพ/จำลอง บุญสอง)

วันนี้เจ้าภาพจะต้องเตรียมข้าวปลาอาหารไว้มากกว่าปกติ ญาติที่มาร่วมงานจะผูกข้อมืออวยพรให้อลอง ชื่นชมบารมีของอลอง ช่วยงาน และร่วมงานสนุกสนานต่าง ๆ เป็นการเฉลิมฉลองอลอง  ตั้งแต่ตอนเช้าจะมีผู้คนจากทั่วทุกหมู่บ้านแต่งกายกันอย่างสวยงามใครมีแก้วแหวนเงินทองเครื่องประดับอะไรก็จะสวมใส่ประชันกันอย่างเต็มที่ต่างช่วยกันจัดเตรียมเครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารที่จะนำไปเข้าขบวนแห่โคหลู่ (ไทยธรรม) เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นจะนำมาแห่พร้อมกันในวันนี้เสมือนหนึ่งเป็นการเลียบนครของอลอง เป็นกิจกรรมแสดงถึงความหรูหราและพร้อมเพรียงของงานปอยส่างลอง เหล่าบรรดาญาติและประชาชนที่ศรัทธาจะมาร่วมขบวนแห่พร้อมเพรียงกัน ฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน ช่วยกันถือ ช่วยกันแบก ช่วยกันหามอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ได้นำมาจัดเรียงร่วมขบวนให้ครึกครื้นสวยงาม ทุกคนมีความรู้สึกร่วมในส่วนบุญด้วยศรัทธาและเต็มใจ

ปอยส่างลอง
บรรดาญาติและประชาชนที่ศรัทธาจะมาร่วมขบวนแห่ พากันฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน ช่วยกันถือ ช่วยกันแบก ช่วยกันหามอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ได้นำมาจัดเรียงร่วมขบวนให้ครึกครื้นสวยงาม (ภาพ/จำลอง บุญสอง)

วันที่สาม วันแห่ครัวหลู่

เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดกลางทุ่งไปตามถนนสายต่าง ๆ ในช่วงเช้าผู้มีจิตศรัทธามาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรมทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กข้าวแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “ตะแปส่างลอง” มีกลดทองหรือ “ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นมีการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไตที่วัดหัวเวียง

ปอยส่างลอง
ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีของชาวไตที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ ในปีนี้มีการจัดงานปอยส่างลองอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดกลางทุ่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (ภาพ/จำลอง บุญสอง)

วันที่สี่ เรียกว่าวันข่ามส่าง หรือวันหลู่

วันนี้ครอบครัวจะนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรหากในการจัดงานมี จางลอง คือผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ด้วย ก็จะทำกันตั้งแต่เช้าตรู่ เรียกกันว่า ยาบจาง การยาบจางหรืออุปสมบทจะเริ่มราวๆ 4.00 – 5.00 น. ตะแปจางลองจะแต่งตัวจางลองและนำจางลองขี่ม้าแห่ไปวัด โดยมี จีเจ่ (กังสดาล) ตีนำขบวน และอาจมีดนตรีพื้นบ้านหรือกลองก้นยาวร่วมขบวนไปด้วย เมื่อถึงวัดก็จะเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วทำพิธีอุปสมบทในโบสถ์ หากวัดใดไม่มีโบสถ์เจ้าภาพจะร่วมกับทางวัดจัดทำ สิ่มน้ำ คือจะทำศาสาที่ประกอบพิธีอุปสมบทอยู่กลางแม่น้ำหรือในบึงแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีอุปสมบทในสิ่มน้ำ หรือพระอุโบสถหลังน้อยที่ตั้งอยู่เหนือสระน้ำ

ปอยส่างลอง
เด็กชายเชื้อสายไทใหญ่แต่งชุดส่างลอง ด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนากหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่าง ๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ (ภาพ/จำลอง บุญสอง)

ในวันข่ามส่าง ผู้คนจะมาชุมนุมกันที่วัดกันตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่จะไปถึงวัดก่อนพร้อมอุ๊บ หรือ ขันดอกไม้ จนได้เวลาพอสมควรจะมีการ ถ่อมลีก คืออ่านหนังสือธรรมะให้ทุกคนฟังเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีซึ่งถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมานาน ผู้ฟังจะนั่งฟังอย่างสงบและสำรวมกิริยา เมื่อได้เวลาฉันเพลจะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีบรรพชาสามเณรก่อนแล้วจึงเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานในพิธี เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

Posted by จำลอง บุญสอง on Thursday, April 5, 2018