เที่ยวย้อนเวลาที่บุรีรัมย์

จังหวัดบุรีรัมย์ชวนย้อนเวลากับขบวนแห่แแบบเขมรโบราณสักการะเทพเจ้าบนเขาพนมรุ้ง พร้อมชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นลอดผ่านบานประตู 15 ช่อง ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง

0
2075
ปราสาทพนมรุ้ง
บุรีรัมย์ย้อนเวลากับขบวนแห่แบบเขมรโบราณเพื่อสักการะเทพเจ้าบนเขาพนมรุ้ง (ภาพ/การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดสุรินทร์)

จังหวัดบุรีรัมย์จัดงานประจำปีประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ย้อนเวลาหาอดีตช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ด้วยขบวนแห่พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ธิดาของกษัตริย์สูรยวรมันที่ 2  ผู้เดินทางมาสักการะเทพเจ้าบนเขาพนมรุ้ง นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2561 – 2 เมษายน 2561 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ขบวนแห่พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี จะจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2561 ช่วงเช้าเวลา 7.10 น.

ปราสาทหินพนมรุ้ง
การแสดงฟ้อนรำเพื่อถวายสักการะแด่เทพเจ้าที่ปราสาทหินพนมรุ้ง (ภาพ/การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดสุรินทร์)

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ 77  กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว

ตัวปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบสถ์พราหมณ์ลัทธิไศวะ มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัยตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ธิดาของกษัตริย์สูรยวรมันที่ 2  ซึ่งครองเมืองพระนคร (หรือนครวัด ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) พระนางฯ ให้กำเนิดโอรส คือ องค์นเรนทราทิตย์ซึ่งต่อมาได้บำเพ็ญเป็นโยคี ณ เขาพนมรุ้ง

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี เดินทางมาจากเมืองพระนครมายังเทวาลัยพนมรุ้งพร้อมข้าทาสบริวารและผู้ติดตามขบวนเพื่อถวายสักการะแด่เทพเจ้า มีการจัดพาแพะและวัวนมอีกอย่างละ 100 ตัวเพื่อถวายแก่มหาฤาษีนเรนทราทิตย์

ในขบวนแห่มีเสียงเป่าเขาสัตว์ดังก้องกังวานไปทั่วขุนเขา ขบวนเทพพาหนะทั้ง 10  ซึ่งประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงาม ต่างเคลื่อนเข้าสู่ทางเดินระหว่างช่องเสานางเรียงตลอดทางจนถึงบันไดนาคราช ระหว่างทางมีหญิงสาวยืนโปรยดอกไม้เพื่อต้อนรับขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี

ปราสาทหินพนมรุ้ง
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินกลุ่มราชมรรคาตั้งอยู่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ในขบวนพาหนะเทพเจ้าผู้พิทักษ์ประจำทิศทั้ง ๑๐ “เรืองไสวเกริกกระบวนน้อมสักการะ” ประกอบด้วย  หงส์ พาหนะของพระพรหม เทพเจ้าประจำทิศเบื้องบน  ช้าง พาหนะของพระอินทร์ หรือท้าวสักกะเทวราช เทพเจ้าประจำทิศบูรพาหรือทิศตะวันออก โค พาหนะของพระอีศาน หรือพระศิวะมหาเทพ เทพเจ้าประจำทิศอีสานหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้ง ระมาด (กระซู่) นกยูง ม้า ตลอดจนสัตว์หิมพานต์ อย่าง รากษส คชสีห์ และนาค

นอกจากขบวนแห่ดังกล่าวนักท่องเที่ยวจะได้ชมการสักการะพาหนะเทพผู้พิทักษ์ประจำ ๑๐ ทิศ ภายใต้แนวความคิด “เรืองตระการแสงศรัทธา”  ช่วงวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2561 เวลา 9.00 – 21.00 น. ณ บริเวณปราสาทหินพนมรุ้ง

พิธีสักการะพาหนะเทพผู้พิทักษ์ประจำ 10 ทิศ จะจัดขึ้นโดยให้ประชาชนเดินสักการะพาหนะเทพผู้พิทักษ์ที่ประดิษฐานในแต่ละองค์ปราสาท

นักท่องเที่ยวสามารถชมการแสดงประกอบแสง สี เสียง เรื่อง “เรืองศรัทธาศิวะนฤมิตร เรืองวิจิตรคุณค่าพนมรุ้ง”  จำนวน 6 ตอน เช่น “ศิวะนฤมิตร” “สองปราสาทคู่ปฐพี” และ “บุรีรัมย์อร่ามเรือง” ช่วงระหว่างคืนวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน ตั้งแต่เวลา 19.00 น.

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงแสงแห่งศรัทธาปราสาทหินพนมรุ้ง Special Light Show “เจิดแจรงแสงศรัทธา” ช่วงวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 256 เวลา 19.00  – 21.00 น.

ปรากฏการณ์พิศวง

นักท่องเที่ยวสามารถชมปรากฏการณ์แสงพระอาทิตย์ขึ้นลอดผ่าน 15 ช่องบานประตู วันที่  3-5  เมษายน 2561 ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น ณ ปราสาทหินพนมรุ้ง


ที่พักในบุรีรัมย์

เครสโค บุรีรัมย์

โรงแรมขนาด 40 ห้อง รูปลักษณ์และการออกแบบมาแนวโมเดิร์น ดูดิบ ๆ ด้วยผนังปูนเปลือย สีเทาเข้ม ผสมกับงานตกแต่งตาข่ายเหล็กสีดำตัดกับงานไม้สีน้ำตาลอ่อน [อ่านรีวิวโรงแรม]