โจกักโบ คือ การเย็บเศษผ้าสีสันสวยงามเรียงต่อกันเป็นผืนสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในสมัยโบราณผู้หญิงเกาหลีเย็บโจกักโบเพื่อนำมาใช้ทำโบจากิ ผ้าห่อของอเนกประสงค์เพื่อเอาไปใช้ห่อของขวัญ ห่อของในงานแต่งงาน และในงานพิธีทางศาสนาต่าง ๆ ในโลกนี้ประเทศที่ยังมีวัฒนธรรมการใช้ผ้าห่อของเหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่นและประเทศตุรกี
การเย็บปะต่อแบบโจกักโบนอกจากจะเอาไปใช้ทำผ้าห่อของแล้ว การต่อผ้าที่มีสีสัน มีมิติและลวดลายงดงามยังนิยมเอาไปทำเป็นผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หรือนำไปแขวนที่ฝาผนังเพื่อตกแต่งห้องด้วย
แนวคิดพื้นฐานของโจกักโบ คือ การนำเศษผ้ามาเย็บต่อกันเพื่อทำให้เป็นผ้าผืนใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อได้ว่ากำเนิดของโจกักโบไม่ได้มาจากในวังหลวงที่มีผ้าเนื้อดีลวดลายงดงามมากมายให้เลือกใช้แต่น่าจะมีต้นกำเนิดจากประชาชนนอกวังที่ต้องใช้ผ้าทุกชิ้นให้คุ้มค่าที่สุดโดยไม่ทิ้งไปเปล่า ๆ ความงดงามและสีสันของโจกักโบทำให้การเย็บผ้าปะต่อนี้ได้รับความนิยมจนได้เข้ามาสู่ในวัง ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานโบจากิโบราณในพิพิธภัณฑ์ผ้าปักในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (Museum of Korean Embroidery in Seoul) ซึ่งเชื่อว่าเป็นโบจากิของเจ้าหญิงองค์หนึ่ง โบจากิผืนนั้นทำจากผ้าไหมทั้งผืนไม่ใช่เศษผ้าที่นำมาเย็บต่อกันแบบโจกักโบ ยิ่งไปกว่านั้นผ้าที่เย็บแบบโจกักโบที่พบในวังหลวงมักเป็นผ้าเนื้อดี ฝีมือในการเย็บประณีตงดงามและไม่ค่อยมีร่องรอยของการใช้งาน จึงทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่าโจกักโบในวังน่าจะนำมาใช้ในการตกแต่งมากกว่านำมาใช้ห่อข้าวของเครื่องใช้
ในสมัยโชซอน ผู้หญิงอยู่ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ หญิงชาวบ้านทั่วไปไม่ได้รับการศึกษาจึงไม่ได้เรียนรู้การอ่าน การเขียน หรือศิลปะวิทยาการใด ๆ ดังเช่นบุรุษ ดังนั้นความรู้และวิทยาการที่พวกเธอถ่ายทอดและเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นก็คือความรู้ความชำนาญในการทำงานบ้าน การเกษตร และงานในครัวเรือนต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทำอาหาร การทอผ้า และการเย็บปักถักร้อย พวกเธอจะตัดเย็บเสื้อผ้า ทำที่นอนและทำโบจากิให้คนทั้งบ้าน วัฒนธรรมส่วนใหญ่ของเกาหลีมักส่งเสริมหรือสร้างโดยผู้ชาย ในยุคโชซอนแนวคิดแบบขงจื้อมีข้อห้ามสตรีมากมายเรื่องการทำกิจกรรมนอกบ้าน การศึกษาของผู้หญิงในยุคนั้นมักเป็นเรื่องการเป็นธิดาที่ดี การเป็นภรรยาที่ดี และการเป็นมารดาที่ดี สังคมที่ชายเป็นใหญ่จะกำหนดให้พวกเธอมีบทบาทในบ้านเท่านั้น ภายใต้ระเบียบปฏิบัติแบบขงจื้อ กิวบังซึ่งเป็นพื้นที่เฉพาะในบ้านของผู้หญิงเกาหลีสมัยโบราณเป็นพื้นที่เดียวที่สตรีจะได้พัฒนาความสร้างสรรค์และพรสวรรค์ในด้านศิลปะ โจกักโบและงานเย็บปักทั้งหลายคือศิลปะที่สร้างโดยผู้หญิงและถือเป็นวัฒนธรรมที่กำเนิดในกิวบังโดยแท้
งานศิลปะหัตถกรรมที่ถือกำเนิดจากพื้นที่ของสตรีเหล่านี้เป็นดั่งบทกวีชิ้นเอกที่แต่งโดยกวีนิรนาม เพราะทุกชิ้นงานที่หลงเหลือไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และชื่นชมล้วนปราศจากชื่อของผู้ที่สรรค์สร้างความงามบนผืนผ้า
โจกักโบหนึ่งผืนมักเย็บจากวัสดุชนิดเดียวกัน เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่านรามี ป่าน ปอหรือแม้นกระทั่งกระดาษ โจกักโบมักทำจากเศษผ้าหลากสีสันหลาย ๆ ชิ้นเย็บเรียงต่อกันเป็นลวดลายแบบแอบสแตรก แต่บางครั้งก็อาจใช้เศษผ้าสีเดียวเย็บต่อกัน
นักโบราณคดีจากเกาหลีใต้บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า โจกักโบเปรียบเสมือนภาพถ่ายของครอบครัวก่อนยุคที่จะมีกล้องถ่ายภาพ โจกักโบแต่ละผืนได้รวบรวมเรื่องราวชีวิตของสตรีในบ้านที่เป็นผู้เย็บเศษผ้าเหล่านี้เรียงร้อยจนเป็นภาพครอบครัวของเธอขึ้นมา ชิ้นส่วนของผ้าที่เป็นสีแดงและสีเหลืองอาจเป็นเศษผ้าจากชุดที่เธอใส่ในพิธีแต่งงาน เศษผ้าสีน้ำเงินอาจมาจากชุดข้าราชการของสามีของเธอ ชิ้นส่วนเศษผ้าสีสันสดใสอาจมาจากเสื้อผ้าของลูก ๆ ของเธอ
ความงามของโจกักโบซึ่งเป็นศิลปะที่กำเนิดในกิวบังก้าวผ่านข้อจำกัดของสังคม ยุคสมัย ความเชื่อและกาลเวลา โจกักโบโลดแล่นอย่างสง่างามจากยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวเกาหลีผูกพันกับความงดงามและความสมถะของโจกักโบ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชื่อดังของเกาหลีนำเอาโจกักโบไปใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าร่วมสมัย ชาวเกาหลีที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศต่างนำความรู้เรื่องการเย็บผ้าปะต่อแบบโจกักโบและการห่อผ้าโบจากิไปเผยแพร่เพื่อสนับสนุนการใช้ผ้าห่อของเพื่อนำไปห่อของขวัญแล้วนำผ้าสีสวยสดใสนั้นกลับมาใช้ซ้ำแทนที่จะใช้กระดาษห่อของขวัญแบบใช้แล้วทิ้ง
ชมนิทรรศการ
พบความงามจากการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของเกาหลีได้ในนิทรรศการ “โจกักโบ หัตถกรรมแห่งความสมานสามัคคี” (Jogakbo ; The Handicraft of Harmony) ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ที่ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย