โต๊ะแดง: เรื่องเล่าจากเมืองนราธิวาส

0
5557
ต้นไม้ที่ป่าพรุสิรินธรมีรากอากาศโค้งงอออกมาจากโคนต้นมองดูเหมือนแขนขาของต้นไม้ (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาสเป็นป่าน้ำท่วมขังผืนสุดท้ายของประเทศไทย นักท่องเที่ยวที่ชอบความงามความสมบูรณ์ของป่าพรุสามารถเดินชมป่าพรุด้วยตัวเองตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ทันทีที่ได้ก้าวเดินไปตามทางเดินที่พาดอยู่เหนือน้ำ ลัดเลาะเข้าไปในผืนป่าพรุหรือป่าดงดิบที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี บริเวณสองข้างทางเดินจะพบต้นไม้หลากชนิด บางชนิดลำต้นขนาดเท่าข้อมือยาวเลื้อยไปเกาะไม้ยืนต้น บางชนิดลำต้นสูงมีรากประหลาดโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินพื้นน้ำ เหมือนแขนขาต้นไม้เดินได้ในหนังแนวแฟนตาซี เมื่อเดินลึกเข้าไปเรื่อย ๆ คุณจะได้สัมผัสกับความสวยงาม ความบริสุทธิ์ (และความลึกลับ) ของป่าพรุโต๊ะแดง

“เล่ากันว่านานมาแล้ว มีหญิงชราคนหนึ่งชื่อ “โต๊ะแดง” อาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิมรอบ ๆ ป่าพรุ แกเป็นคนมีคาถาอาคม วันหนึ่งโต๊ะแดงพายเรือหายเข้าไปในป่าดิบผืนนี้หลายวัน หายไปนานจนชาวบ้านเป็นห่วงและพากันออกตามหาโต๊ะแดงในป่าพรุ” มาเณศ บุณยานันต์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ชื่อป่าพรุโต๊ะแดงอย่างเป็นทางการ) เล่าให้ผมและกลุ่มนักเดินทาง ฟังเป็นการเปิดเรื่องก่อนเดินชมป่าพรุที่สมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทย


ต้นหวายเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

“ชาวบ้านหาโต๊ะแดงไม่เจอ พบแต่เรือของโต๊ะที่จอดทิ้งไว้ แล้วก็พบจระเข้ยักษ์ตัวหนึ่งว่ายน้ำอยู่ข้าง ๆ เรือของโต๊ะแดง เรื่องประหลาดก็คือจระเข้ตัวนี้ใส่เสื้อผ้าของโต๊ะแดงด้วย ชาวบ้านพากันเชื่อว่าโต๊ะแดง หญิงชราผู้มีอาคมแก่กล้าได้กลายร่างเป็นจระเข้ยักษ์อาศัยอยู่ในบึงน้ำที่มีอยู่ทั่วไปในป่าพรุ จากนั้นก็เรียกป่าพรุนี้ว่าป่าพรุโต๊ะแดง”

ฟังเรื่องของโต๊ะแดงแล้วนึกถึงนิทานข้างกองไฟของนักเดินป่าที่นิยมเล่าเรื่องเหตุการณ์ประหลาด ๆ จากพงไพร แต่ทั้งที่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อ เหนือธรรมชาติ แต่ใจก็อดคิดไม่ได้ว่าไกลออกไปในป่าดิบอันรกชัฎของป่าพรุโตะแดงนั้นมีความลึกลับอะไรที่ซ่อนอยู่ในป่าพรุแห่งนี้อีกไหมหนอ จริง ๆ แล้วตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ป่าดงดิบแห่งนี้เคยชุกชุมไปด้วยจระเข้น้ำเค็ม ฟังแล้วน่าขนลุกกว่าเรื่องโต๊ะแดงกลายเป็นจระเข้ยักษ์เสียอีก

“พวกคนเก่าคนแก่ที่เคยเก็บของป่าในป่าพรุเคยพบเห็นจระเข้น้ำเค็ม แต่เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นนานมาแล้ว ปัจจุบันนี้จระเข้น้ำเค็มสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ที่เหลือก็เห็นจะเป็นพวกตะโขง แต่ก็เหลือน้อยมาก” คนนำทางเล่าให้ฟังระหว่างเดินไปตามสะพานไม้ที่ทอดยาวเหนือน้ำ

ใบไม้คือความมหัศจรรย์ของป่าพรุ หรือป่าดงดิบน้ำท่วม ใบไม้ที่ร่วงลงมากองสุมในพื้นที่น้ำขัง ใบไม้เหล่านี้ไม่ได้ย่อยสลายกลายเป็นดินเหมือนป่าดงดิบทั่วไป เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีชั้นของใบไม้ที่หล่นมาทับถมกันก็จะหนาขึ้นเรื่อย ๆ (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ป่าพรุโต๊ะแดงตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 120,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอเมือง มีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่านและหนึ่งในนั้นคือแม่น้ำบางนรา ป่าพรุโต๊ะแดงเป็นบ้านหลังใหญ่ของนก มีนกอาศัยอยู่ประมาณ 195 ชนิด นอกจากนกยังมีสัตว์เลื้ยงลูกด้วยนม 50 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 30 ชนิด และพืชอีก 470 ชนิด นับได้ว่าเป็นป่าดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ๆ


เรื่องอื่นใน “บิ๊ก เอียร์ส”


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จมายังป่าพรุโต๊ะแดงครั้งแรกในปี 2533 หลังจากนั้นเสด็จมาทรงงานที่ป่าพรุโต๊ะแดงอีกหลายครั้ง คนนราธิวาสจึงยกป่าพรุโต๊ะแดงให้เป็นของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แล้วพากันเรียกป่าพรุแห่งนี้ว่า “ป่าพรุสิรินธร”

มาเณศ บุณยานันต์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร เล่าว่าป่าพรุโต๊ะแดงเป็นป่าผืนสำคัญของชาวนราธิวาสมานาน มีทั้งตำนานเรื่องเล่า ความเชื่อเกี่ยวกับที่มาของผืนป่าแห่งนี้ ปัจจุบันแม้ชื่อจริง ๆ ของป่าพรุแห่งนี้จะเรียกขานกันว่า “ป่าพรุโต๊ะแดง” แต่เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯมายังป่าพรุแห่งนี้หลายครั้ง หลาย ๆ คนจึงยกให้เป็นดังป่าพรุของสมเด็จพระเทพฯ แล้วพากันนิยมเรียกขานป่าพรุแห่งนี้ว่า “ป่าพรุสิรินธร”

ทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมป่าพรุได้ด้วยตนเอง ทางศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรได้ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นสะพานไม้ทอดยาวเหนือน้ำยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางเดินที่สะดวกสบายสำหรับนักท่องเที่ยวทุกวัย สองข้างทางเดินเป็นป่าดงดิบ มีป้ายชื่อต้นไม้บอกเป็นระยะ ๆ ต้นไม้บางต้นมีชื่อแปลก ๆ เช่น “หลุมพี” ไม้ตระกูลปาล์มที่ชอบระบบนิเวศในป่าพรุ ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคมจะมีผลสุก ระหว่างที่พวกเราเดินชมป่าพรุคนนำทางได้ลงไปตัดผลหลุมพีมาให้ทดลองกิน รสชาติเปรี้ยวเหมือนน้ำส้ม นอกจากนี้ยังมีไม้ยืนต้นอย่าง “เลือดควาย” สูงเกือบ 20 เมตร มีผลขนาดเท่าถั่วอัลมอนด์ เมื่อกะเทาะเปลือกออกจะมีเม็ดสีแดงก่ำเหมือนเลือดควาย

ต้นหลุมพี ไม้ตระกูลปาล์มที่ชอบระบบนิเวศในป่าพรุสิริธรที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

“เมื่อนักท่องเที่ยวมาเดินชมป่าพรุโต๊ะแดงพวกเขาจะนึกถึงภาพความสวยงามของธรรมชาติสวย ๆ เหมือนเห็นบ่อย ๆ ในภาพถ่ายหรือโพสต์การ์ด ภาพวิวกว้าง 360 องศา ถ่ายรูปแล้วได้ภาพสวยงามอลังการ” คนนำทางชวนคุย “แต่ที่ป่าพรุโต๊ะแดงไม่มีความสวยงามแบบนั้น ความยิ่งใหญ่ของป่าพรุโต๊ะแดงคือความหลากหลายทางธรรมชาติ ความหลากหลายของพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าดงดิบที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี”

ยืนอยู่ในอ้อมกอดของป่าดิบ

ความหลากหลายทางพันธุกรรมคือความงดงามอีกรูปหนึ่งของธรรมชาติที่สมบูรณ์ หากนักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์ที่น่าจดจำระหว่างเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผมแนะนำให้เลิกสนใจโทรศัพท์มือถือในขณะที่เดินชมธรรมชาติ เลิกกังวลว่าจะมีใครคอมเม้นท์ในเฟซบุ๊คเราไหม เลิกสนใจไลน์สักพัก แล้วเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างช้า ๆ

ขณะที่เดินชมป่าพรุขอให้เปิดประสาททุกส่วน ลองฟังเสียงป่าพรุว่าเสียงเหมือนป่าผืนอื่น ๆ ที่เคยไปสัมผัสมาหรือเปล่า ผืนป่าแต่ละแห่งมีเสียงไม่เหมือนกัน ให้มองไปที่ยอดไม้สูง ๆ ถ้าโชคดีอาจจะได้เห็นลิงแสมกระโดดไปตามยอดไม้แต่ละยอด หรืออาจจะเห็นนกป่ากำลังร้องเพลงอยู่ตามพุ่มไม้ และอย่าลืมสังเกตท้องน้ำให้ดี (ว่ามี “จระเข้โต๊ะแดง” ว่ายตามเรามาหรือเปล่า)

นักท่องเที่ยวเดินถ่ายภาพขณะเที่ยวชมบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส
(ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ในบางช่วงป่าพรุดูเหมือนป่าลึกลับในเทพนิยาย มีคราบสีเขียวของมอสเกาะตามเปลือกต้นไม้ มีไม้ยืนต้นสูง ๆ ยืนเรียงรายติดกันเหมือนกำแพงที่ปกปิดความลับของป่าดงดิบ ต้นไม้บางต้นมีรากอากาศขนาดใหญ่ โค้งงอเหมือนแขนขา อดคิดไม่ได้ว่าเวลาไม่มีคนเดินผ่านมาต้นไม้พวกนี้คงเดินได้เหมือนต้นไม้ในนิยายเรื่อง “ลอร์ดออฟเดอะริงส์”

ซากใบไม้ที่หล่นลงมาทับถมกันเป็นชั้นใบไม้หนาๆ มีบางส่วนที่ย่อยสลายทำให้น้ำที่ท่วมขังป่าพรุมีสีแดง (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

“ใบไม้คือความมหัศจรรย์ของป่าพรุ หรือป่าดงดิบน้ำท่วม” คุณมาเณศ บุณยานันต หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร เล่าให้พวกฟัง “ใบไม้ที่ร่วงลงมาในพื้นที่น้ำขังไม่ได้ย่อยสลายกลายเป็นดินเหมือนป่าดงดิบทั่วไป เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีชั้นของใบไม้ที่หล่นมาทับถมกันก็จะหนาขึ้นเรื่อย ๆ ”

บางแห่งมีใบไม้ร่วงหล่นมาทับถมกันหนาถึง 5 เมตร

“ใบไม้ที่ชุ่มน้ำเป็นอาหารให้ปลาและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในป่าพรุ” หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรเพิ่มเติมเรื่องความสมบูรณ์และลักษณะนิเวศวิทยาที่แตกต่างจากป่าแบบอื่น

ในทางกลับกันใบไม้แห้งที่หล่นมาทับถมกันจะกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีในช่วงฤดูร้อนที่น้ำในป่าพรุแห้ง ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมมักจะเกิดไฟไหม้ป่าพรุโต๊ะแดงเกือบทุกปี ในแต่ละครั้งไฟลุกลามทำลายป่าพรุผืนสุดท้ายของประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1000 ไร่

ดอกบัวพบบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส
(ภาพ/พูวดล ดวงมี)

เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุโต๊ะแดงจะเริ่มจากด้านหลังของศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร นักท่องเที่ยวสามารถเดินเป็นวงกลมผ่านจุดที่น่าสนใจต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ตามทางเดิน บางจุดเป็นป้ายบอกชื่อพันธุ์ไม้ประจำถิ่น บางจุดเป็นภาพนิทรรศการการเสด็จมาทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางเดินตลอดระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรร่มรื่น เขียวสด มองดูสบายตา สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรนำติดตัวไปคือน้ำดื่ม กล้องถ่ายรูปและขาตั้งกล้อง เพื่อบันทึกภาพกลับมาเล่าเรื่องราวของป่าพรุสิรินธร หรือป่าพรุโต๊ะแดง ป่าดงดิบน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

การเดินทาง

ป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) อยู่ห่างจากเมืองสุไหงโกลกประมาณ 6 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง (100 บาท/เที่ยว) มาที่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินเที่ยวตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ