พอรู้ว่าจะได้ไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผมรู้สึกกังวลนิด ๆ (ไม่ถึงกับปอดแหก – แค่เปลี่ยนพระห้อยคอจากหลวงพ่ออ่ำวัดชีปะขาวเป็นหลวงพ่อโตวัดบางกระทิงที่มีชื่อเสียงด้านคงกระพันชาตรีก็เท่านั้นเอง) สองสามวันก่อนที่เราจะเก็บของเตรียมตัวลงใต้สุดแดนสยาม มีข่าววางระเบิดหน้าโรงเรียนประถมศึกษาที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ฤทธิ์ของระเบิดปลิดชีวิตพ่อลูกคู่หนึ่ง ทิ้งความโศกเศร้าและความสูญเสียไว้ให้คนที่อยู่ข้างหลัง แต่ก็คิดเสียว่าเอาเถิดความเครียดและความวิตกมีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่บ้าน ที่ทำงาน ในรถยนต์ ห้องประชุมข่าว ไม่ว่าที่ไหนมันก็เครียดทั้งนั้นจะต่างกันก็ตรงที่ว่ามันจะมีมากบ้างน้อยบ้างก็เท่านั้นเอง

มัสยิดตะโละมาเนาะ ศาสนสถานของคนไทยมุสลิมสร้างขึ้นมานานกว่า 300 ปี (ภาพ/พูวดล ดวงมี

สุดท้ายความอยากชนะความกลัว ข่าวความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปูพื้นให้อารมณ์อยากผจญภัยคุกรุ่น เคยได้ยินคนพูดกันว่าเมื่อคุณไปที่หรูหรา ห้าดาวมาแล้วถ้าเคยไปที่ๆสะดวกสบายสุดๆจนแทบไม่ต้องกระดิกนิ้วก็มีของกินของใช้มาบำรุงบำเรอถ้าคุณไปมาหมด เห็นมาหมด คุณจะหันมามองหาที่เที่ยวที่อันตรายและเข้าถึงได้ยากสุดๆ ผมก็เหมือนกัน สันดานนักผจญภัยมันกำลังดีดดิ้นอยู่ในตัวผม

ยินดีต้อนรับสู่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เครื่องบินแอร์บัส A320 แตะรันเวย์ตอนเช้า 8 นาฬิกาตรง ระหว่างยืนรอกระเป๋าที่สายพานผมมองเห็นนักเดินทางต่างชาติ 2 คน ไม่แน่ใจว่าเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนต่างชาติที่มาทำงานที่หาดใหญ่ พวกเขาอาจจะข้ามชายแดนไปประเทศมาเลเซียก็ได้ กลุ่มของพวกเรามีประมาณ 20 คน หลายคนเคยร่วมเดินทางมาที่นราธิวาสเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว เมื่อได้กระเป๋าเรียบร้อยเราก็แยกย้ายกันไปนั่งรถตู้ที่รออยู่ 3 คัน จากนั้นคนขับรถก็พาเราออกจากสนามบินหาดใหญ่ เข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 43 มุ่งหน้าสู่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

ทริปนี้ต่างกับทริปนราธิวาสเมื่อ 3 ปีที่แล้วครั้งนั้นหน่วยงานรักษาความปลอดภัยจังหวัดนราธิวาสจัดให้เต็มๆ มีทีมคุ้มกันแต่งตัวเหมือนหน่วยคอมมานโด อาวุธครบมือตั้งแต่ไรเฟิล AK47 ถึงปืนพกลูกดกอย่าง Glock แทนที่พวกเราจะรู้สึกปลอดภัย ทีมคอมมานโดที่ปิดหัวปิดท้ายขบวนทำให้พวกเราเป็นเป้าสนใจของทุกคนโดยไม่ต้องสงสัยแต่ครั้งนี้เราจัดแบบนักท่องเที่ยว ไม่มีขบวนคุ้มกัน มีแต่รถตู้ 3 คันที่วิ่งทิ้งระยะห่างกันประมาณ 50 เมตร

“จริง ๆแล้วเราข้ามชายแดนจากฝั่งไทยไปมาเลเซียวิ่งเลียบชายแดนไปเรื่อยๆ แล้วไปเข้าไทยที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่เบตง เส้นนี้ปลอดภัยกว่าเส้นที่เรากำลังจะไป” “เฒ่าแจ็ค” เพื่อนร่วมทริปเปรยช่วงรถตู้ชะลอความเร็วระหว่างรอผ่านด่านรักษาความปลอดภัยด่านตรวจจะมีเป็นระยะๆ ก่อนจะเข้าตัวอำเภอแต่ละแห่ง

ชาวบ้านจุดประทัดถวายรูปปั้นพระพิฆเนศ ที่วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

“ช้าไปแล้วแจ็ค เราจะเข้าปัตตานีอยู่แล้ว” ผมนึกอยู่ในใจ  เฒ่าแจ็คนักเขียนบล็อกเคยร่วมทริปนราธิวาสเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

“ถ้าเราเลี่ยงเข้าทางมาเลเซียเราก็จะได้เที่ยวแค่เบตง ไม่ได้ไปดูปัตตานีและที่อื่นๆของยะลา” ผมเอ่ยขึ้นในที่สุด ก่อนจะแกล้งแซวเพื่อนร่วมทาง “ถ้าแจ็คโทรไปหาแฟนตอนนี้ก็ยังไม่สาย บอกรัก บอกลา สารภาพผิด เผื่อเกิดเหตุการณ์ มีอะไรตูมตามขึ้นมาจะได้ไม่สายเกินไป”

“ถ้าเราเลี่ยงเข้าทางมาเลเซียเราก็จะได้เที่ยวแค่เบตง ไม่ได้ไปดูปัตตานีและที่อื่นๆของยะลา” ผมเอ่ยขึ้นในที่สุด ก่อนจะแกล้งแซวเพื่อนร่วมทาง “ถ้าแจ็คโทรไปหาแฟนตอนนี้ก็ยังไม่สาย บอกรัก บอกลา สารภาพผิด เผื่อเกิดเหตุการณ์ มีอะไรตูมตามขึ้นมาจะได้ไม่สายเกินไป”

ถ้าเครียดก็ต้องทำเป็นขำ

พวกเราเดินทางปลอดภัยตลอดระยะทางกว่า 130 กิโลเมตรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้อกสั่นขวัญแขวน ถนนลาดยางตัดผ่านทุ่งนา ขนำ สวนยางแถวๆ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก่อนเข้าอำเภอนาทวี ยิ่งเราเดินทางลงใต้ปลายด้ามขวานของประเทศไทยมากขึ้นเท่าไรเราก็เห็นมัสยิดของไทยมุสลิมมากขึ้น วัดช้างไห้ที่อำเภอโคกโพธิ์เป็นวัดไทยพุทธวัดสุดท้ายที่เราจำได้ พวกเราแวะไปกราบรูปปั้นหลวงปู่ทวด พระเกจิชื่อดังในตำนานที่ได้รับความนับถือจากทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม วัดอยู่ริมทางรถไฟ เป็นวัดขนาดกลางไม่ใหญ่มาก ถือว่าเล็กด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับชื่อเสียงของหลวงปู่ทวด กลางลานวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีศาลาไม้หลังเล็กสร้างมานานแล้ว ริมทางรถไฟมีรูปปั้นพระพิฆเนศที่คนชอบมาจุดประทัดแก้บน ช่วงที่เราแวะวัดช้างไห้เป็นช่วงที่การรถไฟแห่งประเทศไทยหยุดให้การบริการเดินรถไฟสายใต้ หลังจากเกิดเหตุการณ์วางระเบิดรางรถไฟซึ่งทำให้รถไฟเสียหาย

พวกเราเดินทางมาถึงตัวเมืองปัตตานีประมาณเที่ยง รถติดยาวเหยียดก่อนที่จะเดินทางเข้าเมืองเพราะรถทุกคันต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียดจากด่านรักษาความปลอดภัยขนาดใหญ่มีทั้งหอคอยและแนวกระสอบทราย ความรู้สึกเหมือนเดินทางเข้าไปในพื้นที่ควบคุมพิเศษ กระสอบทรายมีไว้กันแรงปะทะของระเบิด ทหารสวมชุดสนามถือปืนไรเฟิลเดินตรวจค้นรถที่น่าสงสัย มองจากหน้าต่างรถตู้เห็นทหารกลุ่มหนึ่งกำลังค้นรถกระบะของชาวบ้านที่กำลังขับเข้าไปในเมืองปัตตานี ทหารสามสี่คนกำลังล้อมถามหน้าตาขึงขังดูเคร่งเครียดจริงจัง

นักท่องเที่ยวแวะกราบหลวงปูทวดที่วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ชื่อของจังหวัด “ปัตตานี” มีที่มาหลายที่ บันทึกบางฉบับเขียนไว้ว่า “ปัตตานี” ตั้งตามชื่อเจ้าหญิงของอาณาจักรลังกาสุกะ อาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-11 ในภาษาสันสกฤต “ปัตตานี” หมายถึง “เทพธิดาผู้บริสุทธิ์” บันทึกฉบับอื่นเขียนถึงที่มาของชื่อ “ปัตตานี” ว่ามาจากคำในภาษามาลายูแปลได้ความว่า “ชายหาดแห่งนี้” ก็ฟังๆ เอาเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ แต่ที่แน่ๆในอดีตปัตตานีเคยเป็นท่าเรือและชุมชนการค้าบนคาบสมุทรมาลายูด้านใต้สุดของฝั่งทะเลอ่าวไทยในปัจจุบัน ปัตตานีมีชื่อปรากฏอยู่ในแผนที่เดินเรือโบราณของพ่อค้าอาหรับและจีน ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและเรื่องราวของมัสยิดกรือเซะบอกเป็นนัยๆว่า ณ “ชายหาดแห่งนี้” ได้สานความสัมพันธ์ (และความรัก) ระหว่างคนเชื้อสายจีนและคนพื้นเมืองปัตตานีซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี

ตามบันทึกที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกล่าวว่า ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นสาวจีน เธอออกเดินทางจากตอนใต้ของจีนข้ามทะเลมาตามหาพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมที่อยู่เมืองปัตตานีเพื่อให้กลับไปดูใจแม่ที่เมืองจีน เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวเดินทางมาถึงปัตตานีพบว่าพี่ชายได้แต่งงานกับผู้หญิงพื้นเมืองชาวปัตตานีและเปลี่ยนไปนับถือศาสนามุสลิม รู้แค่นี้ก็ยังไม่ตกใจเท่าไรแต่เรื่องที่สะเทือนใจที่สุดก็คือ “เฮียลิ้ม” ไม่ยอมกลับไปดูใจแม่ที่เมืองจีน ลิ้มกอเหนี่ยวเสียใจมาก เธอจึงผูกคอตายใต้ต้นกาหยูหรือมะม่วงหิมพานต์

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมกับคนปัตตานีนับถือความเด็ดเดี่ยวของลิ้มกอเหนี่ยวจึงช่วยกันฝังร่างของลิ้มกอเหนี่ยวไว้ข้างๆมัสยิดกรือเซะก่อนที่จะสร้างศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไว้เป็นพยานความเด็ดเดี่ยวของสาวจีน ทั้งมัสยิดกรือเซะและศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดปัตตานี มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปกราบไหว้รูปปั้นเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยเฉพาะช่วงที่มีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

น่าเสียดายเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มจากการจับตัวประกันที่มัสยิดกรือเซะเมื่อปี 2547 ต่อด้วยเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 คนในอีก 6 เดือนต่อมาทำให้นักท่องเที่ยวหายไปจากปัตตานี ยะลาและนราธิวาสเกือบร้อยเปอร์เซนต์ทิ้งให้คนท้องถิ่นอยู่กับความเดียวดายและความสับสน

นักท่องเที่ยวกำลังจุดธูปไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

เราออกจากปัตตานีและผ่านอำเภอเมืองยะลาไปเงียบๆ เป้าหมายต่อไปของเราคืออำเภอเบตง จังหวัดยะลาที่อยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 3 ชั่วโมง

ตามเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามภูเขาสูงและหุบลึกของเทือกเขาสันกะลาคีรี บางครั้งเราผ่านชุมชนเล็กๆ มองจากหน้าต่างรถตู้ผมเห็นบ้านไม้ชั้นเดียวแบบสมัยก่อน บ้านหลังเล็กๆ ไม่สูงตัวบ้านทาสีแดงตัดกับหลังคากระเบื้องดินเผาสีขาวหม่น รอบๆบ้านมองเห็นสวนอุดมสบูรณ์มีต้นไม้ปลูกคละกันไปทั้งทุเรียน สะตอ มังคุด และกล้วย

ป้าย OK BETONG ปักต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวอำเภอเบตง จังหวัดยะลา (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

ช่วงที่สวยที่สุดคือช่วงระยะทาง 35 กิโลเมตรจากอำเภอบันนังสตาไปอำเภอธารโต เป็นระยะทางสั้นๆ แต่ใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง เพราะรถต้องวิ่งเลาะไปตามหุบเขา สองข้างทางเป็นป่าทึบ นานๆจะเห็นชาวบ้านขับมอเตอร์ไซด์สวนทางมาพอจะเดาได้ว่ากลับจากไปรับลูกที่โรงเรียน ผ้าฮิญาบปลิวไสวยามต้องลมเมื่อชาวบ้านขับรถสวนกับรถตู้ ภาพต้นไม้ สวนผลไม้ วัวเล็มหญ้า เด็กนักเรียนหมุนเวียนผ่านตาเหมือนนั่งดูภาพสไลด์โชว์อยู่ในรถตู้ ความสวยงาม ความเงียบ ความสงบทำให้ลืมไปพักหนึ่งว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่อันตรายที่สุดเส้นทางหนึ่ง เมื่อปี 2553 พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดและเสียชีวิตที่บันนังสตา ความสวยงามของบันนังสตาและเขาบูโดมีความรุนแรงทับซ้อนอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่งแต่ไม่ใช่ในวันนี้

เรามาถึงเบตงโดยสวัสดิภาพหลังจากแอบลุ้นกันมาตลอดทาง กลัวว่าจะมืดกลางทางช่วงบันนังสตากับอำเภอธารโต เรารู้ว่าเข้าเขตเทศบาลเบตงเมื่อเห็นป้ายสีขาวและข้อความ “OK BETONG” ปักต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ริมถนน บอกให้รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ใต้สุดของประเทศไทยแล้ว

เมืองเบตงยามค่ำคืน (ภาพ/พูวดล ดวงมี)
“เบตง”เหมือนฉากหนึ่งในนิยายโรแมนติกนึกถึงเมืองเล็กๆที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา หลายคนได้ยินชื่อเบตงจากหนังสือ บางคนนึกถึงเด็กๆมุสลิมตาคมคลุมผ้า เด็กชายหน้าเข้มๆ เหมือน “ฮูยัน” ตัวละครในวรรณกรรมและหนังไทยสุดคลาสสิก “ผีเสื้อและดอกไม้” แต่น้อยคนจะได้มาที่สุดปลายด้ามขวาน

สำหรับคนทั่วๆไปเบตงอยู่ไกลเหลือเกิน สมมุติว่าคุณอยู่อำเภอแม่สาย เหนือสุดแดนสยาม คุณอยู่ห่างจากเบตง 2045.8 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถ 27 ชั่วโมง หรือถ้าเดินเท้าเหมือนสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็จะใช้เวลา 400 ชั่วโมง ด้วยระยะทางที่เป็นอุปสรรค หลายคนจึงเก็บเบตงไว้ในใจ แอบหมายมั่นว่าสักวันจะต้องมาเยือนเบตงให้ได้ เบตงเหมือนความสวยงามและความไฝ่ฝันในนิยายแนวโรแมนติค สู้เก็บเอาไว้ในใจสวยกว่าเพราะเกรงว่าถ้าไปเห็นกับตาอาจจะไม่สวยเหมือนที่คิดหวังเอาไว้

ทุกวันนี้เบตงไม่ได้อยู่ไกลเกินฝัน แค่นั่งเครื่องบินโดยสารไปลงที่สงขลา นั่งรถตู้อีกครึ่งวันก็ถึงแล้ว

“เบตงมีชื่อเสียงด้านอาหาร” เฮียเล็ก คนไทยเชื้อสายจีนเติบโตในครอบครัวฮากก้า ตอนนี้เปิดร้านอาหาร “ต้าเหยิน”(Da Ren) อยู่ในเมืองเบตง แกพูดเสียงดังฟังชัด ท่าทีบอกได้เลยว่าอาหารที่เบตงอร่อยที่สุดในประเทศไทย (ถ้าไม่ใช่อร่อยที่สุดในโลก)

ไก่เบตงสับอาหารขึ้นชื่อของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

“สำหรับคนเบตงเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่มาก เรามีกว่า 100 วิธีในการปรุงอาหารจากปลา หมู และไก่ อาหารบางจานใช้เวลาเตรียมนานถึง 3 วัน”

พวกเราก็ได้แต่พยักหน้าเห็นด้วย สลับกับยกเบียร์เย็นๆขึ้นดื่ม ผมเห็นด้วยกับเฮียเล็กทุกอย่างในเรื่องอาหาร ไม่มีอะไรโต้แย้ง ตรงหน้าเราเป็นโต๊ะทรงกลมขนาดใหญ่เหมือนโต๊ะจีนหมุนได้ในร้านอาหารจีนหรู ๆ บนโต๊ะมีอาหารขึ้นชื่อของเบตง แน่นอนต้องมีไก่เบตงสับ หมั่นโถวกับหมูย่าง ปลาจีนนึ่งบ๊วย เคาหยก(หมูสามชั้นนึ่งผักกาดดองแห้ง) ผัดผักน้ำ

ถ้าใครยังไม่ทราบที่มาของชื่อ “เบตง” บอกตรงนี้เลยว่าชื่อของอำเภอเกี่ยวข้องกับของกินหรืออาหาร ด้วยเหตุที่ว่า “เบตง” คือหน่อไม้ไผ่ตง หรือภาษามลายู เรียกว่า “Buluh Betong” หมายถึง “ไม้ไผ่ขนาดใหญ่”

เรือกอแระจอดเกยหาดที่จังหวัดนราธิวาส ภาพ/พูวดล ดวงมี

ในเบตงเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในร้านอาหาร ถ้าเราหยุดพักจากการกินเราก็ออกไปเที่ยวใกล้ๆ ขับรถออกไปประมาณ 2 ชั่วโมง เช่น อุโมงค์จตุรมิตร ของอดีตโจรคอมมิวนิสต์มลายา หมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว และบ่อน้ำพุร้อน บางครั้งก็ข้ามด่านไปเที่ยวร้านค้าปลอดภาษี (ZON Duty Free Shop) ฝั่งมาเลเซีย ซื้อเบียร์ ไวน์ ติดมือมากินกับไก่เบตง

พวกเราพักอยู่ในเมืองเบตง 2 คืน ก่อนออกจากเมืองตอนตี 4 รถตู้ 3 คันค่อยๆวิ่งไปบนถนนที่คดไปคดมาเหมือนเส้นสปาเกตตี้ ทิ้งระยะห่างกันคันละ 50 เมตรเหมือนเดิม จากที่นั่งเบาะสุดท้าย มองเห็นแสงไฟหน้ารถสาดเป็นลำแสงผ่าไปในความมืด

เรือกอแระจอดพักริมชายทะเลที่จังหวัดนราธิวาส

“มืด เงียบสงัด” ผมนึกอยู่คนเดียว ขณะที่ตาจับจ้องแนวป่าสองข้างทางที่มืดสนิท ในความมืดจะมีอะไรซ้อนอยู่หรือเปล่า “ช่างเป็นเวลาที่เหมาะอะไรอย่างนี้สำหรับการซุ่มโจมตี”

ผมคงวิตกไปเอง จริงๆแล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในตอนนี้ไม่ใช่ความรุนแรงหรือความไม่สงบแต่เป็นไก่เบตงสับ เคาหยกที่มีหมูสามชั้นชิ้นหนาๆและอาหารแสนอร่อยที่เรากินเข้าไปมากมายกลุ่มเราเดินทางออกจากเบตงอย่างปลอดภัยรถตู้ของเราวิ่งย้อนกลับมาทางอำเภอธารโต บันนังสตา ยะลา และปัตตานี จากนั้นเราก็เที่ยวกันต่อที่เมืองนราธิวาส ห่างจากเมืองปัตตานีประมาณ 87 กิโลเมตร หรือนั่งรถราว ๆ 1 ชั่วโมง 30 นาที บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 ที่เหยียดตัวคู่ขนานไปกับชายฝั่งอ่าวไทยใต้สุดของประเทศไทย

บรรยากาศในนราธิวาสเครียดกว่ายะลาและปัตตานี เราสัมผัสความตึงเครียดได้ตอนเดินทางกลับจากมัสยิดตะโละมาเนาศาสนสถานของชุมชนมุสลิมที่อายุมากกว่า 300 ปี รถตู้วิ่งไปตามทางลาดยางเล็กๆ ผ่านหมู่บ้าน โรงเรียน ชุมชน เรามองเห็นทหารกลุ่มใหญ่มีอาวุธครบมือเดินลาดตระเวนสองข้างทางคอยตรวจตราความปลอดภัยให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่กำลังเดินทางกลับบ้าน

มัสยิดตะโละมาเนาะ ศาสนสถานของชุมชนมุสลิมที่อายุมากกว่า 300 ปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส (ภาพ/พูวดล ดวงมี)

เราไม่พบนักท่องเที่ยวมากนักที่นราธิวาส นักท่องเที่ยวไทยกับยุโรปไม่มีให้เห็นเลย พบแต่นักปั่นจักรยานชาวมาเลเซียที่พักที่โรงแรมเดียวกัน เจอกลุ่มนักข่าวกลุ่มใหญ่เดินทางมาทำข่าวกับกระทรวงต่างประเทศ นักท่องเที่ยวหายไปจากนราธิวาสทำให้ชายหาดสวยและเป็นธรรมชาติ ช่วงเย็นก่อนพระอาทิตย์จะตกดินชาวบ้านที่อยู่ริมทะเลจะออกมานั่งรับลม ส่งกำลังใจให้ชายหนุ่มของชุมชนที่กำลังซ้อมพายเรือกอและเพื่อชิงชัยประเพณีการแข่งเรือกอและของนราธิวาส ยามค่ำคืนเมืองนราธิวาสมืดมาก จะมีไฟเปิดเฉพาะกลางเมืองแถวๆหอนาฬิกา ถนนสายต่างๆมีด่านตรวจตลอดเวลา แต่ท่ามกลางความตึงเครียดผู้คนเมืองนราธิวาสกลับยิ้มแย้มทักทายนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเป็นอย่างดี

“คนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสจะดีใจมากเมื่อมีคนลงมาเที่ยวที่บ้านเขา ดีใจที่ไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับความรุนแรงตามลำพัง”  คุณมัณฑนา ภูธรารักษ์ ผอ.ททท. สำนักงานนราธิวาสเล่าให้ฟังระหว่างนั่งกินข้าวมื้อเย็น ริมแม่น้ำปากบารา

ผู้อำนวยสำนักงานการท่องเที่ยวบอกว่าอยากให้คนไทยลงมาเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง ตลาดการท่องเที่ยวที่ขยายตัวคงไม่ช่วยให้ความรุนแรงหายไปจากปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เพราะว่าปัญหาความรุนแรงซับซ้อนมาก แต่การมาเยือนของนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและสร้างความมั่นคงทางจิตใจว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวนานเกินไป

การเดินทาง
ไทยสมายล์แอร์เวย์ และ แอร์เอเชียให้บริการเครื่องบินโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากอำเภอหาดใหญ่มีรถตู้โดยสารวิ่งไปจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส